วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ลองของใหม่..ทดลองใช้ระบบภาพเอ็กซ์เรย์ดิจิตอลกันเถอะ..

เคยรู้สึกเหมือนผมไหม๊ครับว่า การเปลี่ยนแปลง ของเทคโนโลยีการแพทย์บางครั้ง ก็สร้างความยุ่งยากลำบากใจให้กับพวกเราบ่อยๆ ทั้งผู้บริหาร ผู้ใช้ และผู้ที่รับผิดชอบงาน ตัวอย่าง เช่น x-ray digital ที่กำลังกระแซะๆ เข้ามามีบทบาทต่อทางการแพทย์มากขึ้นทุกที..
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเทคโนโลยีใหม่ต้องไฉไลว่าเก่า แต่ผมคิดว่าหลายท่านยังคงมีคำถามคาใจที่คล้ายกันว่า งาน x-rayของโรงพยาบาลถึงเวลาควรใช้ x-ray digital ได้หรือยัง เพราะถ้าเอาข้อดีข้อเสียมาเปรียบเทียบกัน มันย่อมดีกว่าแน่ๆ และถ้าในเมื่อมันมีข้อดีกว่าตั้งมากมาย แล้วไซร้ ..ปัญหามันอยู่ที่ตรงไหนกันล่ะ?
ย้อนรอย งาน x-ray
ระบบฟิล์มเก็บภาพเอ็กซ์เรย์เป็นที่ทราบกันอยู่ว่ามีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลามาก และค่าใช้จ่ายสูง เพราะ เมื่อถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์เสร็จแล้วต้องผ่านขบวนการล้างฟิล์ม จัดทำซองเก็บฟิล์ม และนำฟิล์มไปให้แพทย์/รังสีแพทย์รายงาน · ต้องมีสถานที่สำหรับจัดเก็บฟิล์ม และเมื่อแพทย์เจ้าของไข้ต้องการดูฟิล์มและผลการรายงาน เจ้าหน้าที่ต้องค้นหาและนำไปให้แพทย์ บางครั้งหาฟิล์มไม่พบ ต้องเสียเวลากันนาน  ส่วนค่าใช้จ่ายมีทั้งค่าฟิล์มเอ็กซ์เรย์  ทั้งๆที่ถ่ายครั้งเดียวได้เลยกับที่ต้องถ่ายซ้ำเนื่องจากภาพ over exposure หรือ under exposure น้ำยาล้างฟิล์ม ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บฟิล์ม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกโรงพยาบาลคงจะทราบกันดี

ข้อมูลการให้บริการงาน x-ray รพร.ด่านซ้าย ปี 2551-2554

ปี พ..( งบประมาณ )
จำนวนผู้รับบริการ (คน )
จำนวนฟิล์ม ( ฟิล์ม )
เฉลี่ยปริมาณงานต่อวัน
คน / ฟิล์ม
    ปีพ..2551
3734
5875
14 / 23
    ปีพ..2552
4981
8623
19 / 33
    ปีพ..2553
7019
8814
27 / 34
    ปีพ..2554
7155
8916
28 / 34

ที่มา : service profile 


รู้จัก DR/Digital Radiography
ปัจจุบันมีผู้ผลิตระบบ Direct Digital X-Ray Sensor หรือ DR/Digital Radiography เพื่อเก็บภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ในรูปแบบดิจิตอลแทนการใช้ฟิล์ม โดยสามารถใช้กับเครื่องเอ็กซ์เรย์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้เลยโดยระบบ DRที่ว่านี้สามารถให้ภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ในรูปแบบดิจิตอลจากการฉายแสงเอ็กซ์เรย์โดยตรง โดยการใช้ Imaging Plate รับแสงเอ็กซ์เรย์แทนฟิล์มและนำ Imaging Plate ไปสแกนให้ได้ภาพดิจิตอล

ถ้าจะเปรียบกันหมัดต่อหมัด ระบบฟิลม์แบบปัจจุบันดูแล้วมีข้อด้อยมากมาย แต่ในแง่ของความสะดวกสบาย รวดเร็ว ยังคงความได้เปรียบจึงมีคำถามที่ว่าทำอย่างไร x-ray digital ถึงจะเป็นเพื่อนที่ดีและใช้งานได้ง่ายสำหรับผู้ใช้ เพราะไฟล์ Digital ข้อจำกัดก็ คือ ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่นในการดูไฟล์ภาพ หรือแม้ว่าสามารถพิมพ์ออกมาใส่กระดาษได้ แต่คุณภาพของภาพที่ได้ก็ยังตอบได้ยากว่า พอจะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าวได้หรือไม่


2 พฤษภาคม 2555
บริษัทสุพรีม ได้เข้ามาติดตั้งระบบ x-ray digital ให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายโดยติดตั้งไว้ในห้องพักทันตแพทย์เก่าซี่งอยู่ด้านหลังของห้องเอกเรย์ มีแอร์ และความกว้างของห้องที่พอเหมาะ โดยอุปกรณ์ที่มาติดตั้ง มีดังนี้ครับ
  1.  Server + UPS 1 ชุด
  2. เครื่องสแกน Imagine Plate + UPS 1 ชุด
  3. PC + UPS 1 ชุด
  4. PC+Monitor สำหรับดูภาพขาวดำ+UPS 1 ชุด
  5. การติดตั้งเชื่อมกับระบบ Lan ของโรงพยาบาล
โดยวิธีการทำงาน หลังจากที่เอกเรย์เรียบร้อยแล้วทางเจ้าหน้าที่จะนำ Plateมาใส่ในเครื่องสแกน Imagine Plate และสแกนภาพ ซึ่งจะมี software สำหรับบริหารจัดการภาพที่สแกน และจัดเก็บไว้ใน server ส่วนวิธีการเรียกดูภาพสแกนจะเรียกดูผ่าน Web Browser และ Login เข้าใช้งานตามรหัสที่มีการกำหนดไว้

จอภาพพิเศษแสดงเป็นภาพขาวดำ ติดตั้งที่ห้องฉุกเฉิน
สนนราคาว่ากันว่า จอตัวนี้ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก..และทั้งแพง











2555 รพร.ด่านซ้าย ก้าวสู่ยุค x-ray digital
สำหรับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ดูเหมือนว่า x-ray digital จะเข้ามาในช่วงเวลาที่เหมาะหลายประการ เพราะก่อนหน้านี้มีการศึกษาหาข้อมูลกันมาพอสมควรว่าควรจะใช้หรือไม่ ซึ่งผมเคยมีโอกาสไปดูการใช้งานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า ที่มีการใช้ไปก่อนหน้าพบว่ายังมีข้อที่ติดขัดอยู่พอสมควรในช่วงแรกของการใช้งาน  แม้กระทั่งเรื่องใช้ CDไฟล์ภาพแทนฟิลม์ให้คนไข้หรือญาติเวลาที่ต้องส่งต่อหรือขอยืมฟิลม์
หลังจากที่ติดตั้งและเชื่อมเข้าระบบเครือข่ายของโรงพยาบาลเรียบร้อย ซึ่งใช้เวลาไม่นานมาก ทีมงานของบริษัทได้ชี้แจงวิธีการใช้งาน และสาธิตการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ในช่วงแรกผมและทีมงานก็ค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับปัญหาการใช้งานที่อาจจะตามมาในภายหลัง เพราะพวกผมคงช่วยแก้ปัญหาอะไรไม่ได้มากเหมือนการดูแลคอมพิวเตอร์ทั่วๆไป แต่ทีมงานบอกว่าจะอยู่จนกระทั่งใช้ได้เป็น ทำให้ผมได้มีโอกาสแวะเข้าไปติดตามสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้บ่อย หลังจากนี้ทางบริษัทจะมีการลงทุนติดตั้ง Internet สำหรับการรีโมทเข้ามาแก้ไข หรือตรวจสอบให้เป็นระยะๆ  ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านและทดสอบระบบ งาน x-rayยังทำฟิลม์แบบเดิมควบคู่กันไปด้วย เพราะตัวเจ้าหน้าที่ของ โรงพยาบาลยังต้องใช้เวลาในการปรับตัว ปรับใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเพราะค่อนข้างปรับตัวได้เร็วแม้ว่าอายุอานามจะค่อนข้างมาก แต่สำหรับพี่อุ่ม หัวหน้างานเอกเรย์บอกอย่างมั่นใจว่า "เอาอยู่.."

ปัญหาที่พบ
หลังจากที่ติดตั้งและใช้งานได้ 3 วัน ผมติดตามความคืบหน้าของการใช้งาน ปัญหาต่างๆ ที่พบ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจที่่พี่อุ่มถามผมว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ผมได้ลองสรุปประเด็นคำถามที่สนใจไว้ดังนี้ครับ
  1. การใช้งานปกติ จะให้แพทย์ดูร่วมกับ HOSxP ได้หรือไม่? 
  2. กรณีนอกเวลาราชการ ที่เคยทำมาจะมีการนำฟิลม์ไปให้แพทย์ดูที่บ้าน แต่พอใช้เอกเรย์ดิจิตอลจะต้องทำอย่างไร?
  3. กรณีส่งต่อ รพ.เลย ที่ต้องใช้ฟิลม์ ไปพร้อมกับคนไข้ จะทำอย่างไร?
  4. กรณีเครื่อง x-ray digital มีปัญหา ทำอย่างไร?
ความเคยชินของการดูฟิลม์ผ่านกล่องไฟ หรือดูผ่านแสงในห้องทำงาน แต่ต้องมาดูผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ดูจะเป็นปัญหาใหม่ ที่ทีมพัฒนาระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล ต้องช่วยกันคิดให้มากว่าจะจัดการอย่างไรให้ลงตัว แม้กระทั่งประเด็นคำถามอย่างเรื่อง เช่น นอกเวลางานที่แต่ก่อนเคยเอาฟิลม์ไปให้แพทย์ดูที่บ้าน หรือเคสที่ต้องส่งต่อไปให้โรงพยาบาลเลย ควรทำอย่างไร  ปัญหาบางอย่างผมได้สอบถามทางฝ่ายเทคนิคของบริษัท และแนวทางการแก้ปัญหาของโรงพยาบาลอื่่นที่เคยไปติดตั้งใช้งาน  ซึ่งคงจะมีลักษณะคำถามคล้ายๆกัน

เรื่องแรกกรณี ขนาดของไฟล์  ไฟล์ที่ได้จากการสแกนภาพเป็นดิจิตอล จะมีขนาดของไฟล์โดยประมาณดังนี้ครับ ฟิลม์ขนาด 14x17 ประมาณ 12 MB ส่วนถ้าเป็นฟิล์มขนาด 10x12 ประมาณ 6 MB และกรณีที่ต้องการ Export โดยการพิมพ์ใส่กระดาษ ขนาด A4 ซึ่งหากใช้เครื่องพิมพ์และกระดาษค่อนข้างดี ภาพที่ออกมาสามารถดูได้ในเบื้องต้น แต่คงต้องให้องค์กรแพทย์ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงพิจารณาดูอีกครั้งว่าพอที่จะยอมรับได้หรือไม่  อีกกรณีคือเรื่องของการส่งออกเป็นซีดี สำหรับให้ผู้ป่วยที่ขอยืมฟิลม์หรือส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่น  ซึ่งในแผ่นซีดีที่มีการ export จะมีโปรแกรมติดตั้งไปให้ด้วย ผมจึงขอทดสอบโดยให้ทีมงานไรท์ใส่ซีดีให้ผมลองเอาไปเปิดดูสัก 1 ภาพ

จากการทดสอบดูไฟล์ภาพจาก CDROMก็ใช่ว่าจะได้ดั่งใจเสียทีเดียวครับ ยังมีความยุ่งยากอยู่พอสมควร  ในส่วนการดูภาพผ่าน web Browser มี software ที่เกี่ยวข้องคือ  Microsoft Silverlight ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด และในระยะต่อไปทางบริษัทจะติดต่อกับทาง BMS เพื่อขอเชื่อมระบบให้สามารถดูผ่าน HOSxP ได้โดยตรง และในส่วนการดูภาพ xrayผ่าน ipadแต่คงต้องทดสอบดูว่าจะสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างไรให้เหมาะสมกับวิธีการทำงานของแพทย์ และทีมงานที่ดูแลรักษาผู้ป่วย



เรื่องนี้ไม่ต้องถึงหูครูอังคณา..
หลังจากผ่านการทดสอบใช้งาน ผมได้นำประเด็นปัญหาต่างๆ พูดคุยกับผู้อำนวยการถึงแนวนโยบายการบริหาร ซึงได้ข้อสรุปในเบื้องต้นตามนี้ครับ
  1. กรณีการใช้งาน บริษัทได้ติดต่อขอเชื่อมกับ HOSxP เพื่อให้สามารถดูภาพผ่านระบบงาน x-ray ไดแต่ในขณะนี้ให้ดูผ่าน web browser แทนชั่วคราว และอาจมีการติดตั้ง Mointor เพิ่มให้ห้องแพทย์เพราะคอมพิวเตอร์ชุดที่ใช้งาน สามารถต่อจอภาพออกได้ทั้ง port DVI และ GRB
  2. กรณีที่เอาฟิลม์ไปให้แพทย์ดูที่บ้าน ผู้อำนวยการบอกว่า "องค์กรแพทย์ก็ต้องปรับตัว หมอต้องมาดูที่โรงพยาบาล เพราะไม่มีฟิลม์ไปให้ดูที่บ้านอีกแล้ว.." ในประเด็นนี้ผมยังคิดว่าจะลองหาทางเลือกให้เพราะคิดว่าโดยระบบ IT สามารถเชื่อมต่อได้ถึงบ้านพัก โดยให้ทางเลือกว่าหมอจะดูผ่านคอมหรือจะมาดูภาพที่โรงพยาบาล
  3. กรณีโรงพยาบาลเลย ผู้อำนวยการให้ความเห็นคล้ายกับคุณหมอสมยุทธว่า "ปกติแพทย์ส่วนใหญ่จะสังเอกเรย์ใหม่อยู่แล้ว ..เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน "  ซึ่งเรื่องนี้โรงพยาบาลเลยเองก็ต้องปรับองค์กรเช่นเดียวกัน  ผมจึงรับงานมาประสานต่อกับทางโรงพยาบาลเลย และได้ประเด็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะเรื่องระบบความปลอดภัยของข้อมูลในโรงพยาบาลเลยที่ไม่ให้ใช้ CDROM  และถ้าหากจะใช้ผ่านช่องทางอื่น เช่น การเปิด port ให้สามารถดูผ่าน internet หรือส่งไฟล์ผ่านเมล์ หรือแชร์ผ่าน Dropbox ก็ยังเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากสำหรับผู้ใช้อยู่ดี แต่ยังมีทางเลือกอีกอย่างคือการพิมพ์ออกมาใส่กระดาษ ซึ่งทางช่างเทคนิคของบริษัทบอกว่าสามารถทำได้และส่วนรายละเอียดภาพขึ้นอยู่กับคุณภาพของกระดาษและเครื่องพิมพ์ คงจะต้องทดสอบดูอีกครั้งกับทางเลือกนี้ว่าพอที่จะใช้ทดแทนกันได้หรือเปล่า
  4. กรณีระบบล่ม อยู่ในสัญญาที่บริษัทรับประกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจจะต้องยังคงมีระบบเก่าสำรองไว้เพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน และอาจจะครอบคลุมถึงกรณีส่ง refer ด้วย คงต้องดูความเสี่ยงกันอีกทีว่ามีปัญหามากน้อยแค่ไหน
ปัจจัยสนับสนุน
  1. นโยบายการบริหารขององค์กร 
  2. ค่าบริการเหมาะจ่าย 65,000 บาท/เดือน หรือ 780,000 บาท/ปี ซึ่งข้อมูลการใช้ฟิลม์ x-ray  ตลอดทั้ง ปี 2554 มีจำนวนการใช้อยู่ที่ 8,916 ฟิลม์ ซึ่งถ้าหากปริมาณการใช้ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นค่าใช้จ่ายต่อฟิลม์จะเฉลี่ยประมาณ 87 บาท
  3. ระบบเครือข่าย(LAN)ที่มีส่วนช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลภาพถ่าย xrayผ่าน HOSxPหรือ Web Browser สามารถดูได้ทุกจุดบริหาร โดยการ login เข้าใช้งานในระบบ  ซึ่งถ้าโรงพยาบาลไม่มีระบบแลนจะเป็นข้อจำกัดอย่างมาก 
  4. ทีมสนับสนุน เช่น ศูนย์คอมพิวเตอร์ ,ซ่อมบำรุง และกรรมการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่ดูแลความพร้อมในด้านอาคาร สถานที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ให้เรียบร้อย
  5. การฝึกอบรมผู้ใช้งาน ที่ทางบริษัทให้เวลาในการฝึกอบรมได้อย่างเต็มที่ และมี Softwareและเทคนิควิธีที่ง่ายต่อการใช้งาน 
เกร็ดความรู้
1. ข้อดีของการใช้ Direct Digital X-Ray Sensor
ประหยัดค่าใช้จ่าย
  • ประหยัดค่าฟิล์มทั้งที่ถ่ายครั้งเดียวได้เลยกับที่ต้องถ่ายซ้ำเนื่องจากภาพ over exposure หรือ under exposure ค่าน้ำยาล้างฟิล์ม ค่าใช้จ่ายในการบำบัดสารเคมีในน้ำยาล้างฟิล์มที่จะทิ้ง
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสต็อกฟิล์มและน้ำยาล้างฟิล์ม จัดเก็บฟิล์มเอ็กซ์เรย์ของผู้ป่วย
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องล้างฟิล์ม(ถ้าใช้)และห้องมืดล้างฟิล์ม
เพิ่มประสิทธิภาพ
  • ลดเวลาการรอคอยผลการเอ็กซ์เรย์ เนื่องจากการล้างฟิล์มและการค้นหาฟิล์ม
  • ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและการรักษาเร็วขึ้น
  • ภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ที่ได้เก็บในฐานข้อมูลของผู้ป่วย แพทย์ผู้รักษาสามารถเรียกดูเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงจากภาวะโรคและผลการรักษาช่วยในการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา
  • โรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลและไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถส่งภาพทางอินเตอร์เน็ตเพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและรวดเร็ว
  • รังสีแพทย์สามารถดูฟิล์มและรายงานผลได้แม้ไม่ได้อยู่ในสถานที่ถ่ายภาพ
  • ลดการสูญหายของฟิล์มเอ็กซ์เรย์ที่เกิดขึ้นในระบบเดิม
  • ลดพื้นที่ที่ต้องใช้สำหรับเก็บฟิล์มและน้ำยาล้างฟิล์ม ห้องมืดสำหรับล้างฟิล์ม
  • ภาพที่ได้เป็นภาพดิจิตอลมีความคมชัดมากขึ้นและไม่เสื่อมคุณภาพไปตามกาลเวลาเมื่อเทียบกับฟิล์ม
 เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคและผู้ป่วยได้รับรังสีน้อยลง
  • ระบบ Direct Digital X-Ray Sensor หรือ DR/Digital Radiography ให้ความคมชัดของภาพสูงในขณะที่ใช้ปริมาณรังสีในการถ่ายน้อยลง
  • ระบบ DR/DigitalRadiographyสามารถปรับความคมชัดของภาพได้มากขึ้นเนื่องจากเป็นภาพดิจิตอล จึงลดการถ่ายซ้ำจากการที่ภาพไม่ชัดในระบบฟิล์ม เป็นการลดปริมาณรังสีที่ได้รับ
2. PACS คือ อะไร
 PACS ย่อมาจากคำว่า Picture Archiving and Communication System คือ ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บรูปภาพ ทางการแพทย์( Medical Images)และรับ-ส่งข้อมูลภาพ ในรูปแบบ Digital PACSใช้การจัดการรับส่งข้อมูล ผ่านทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยการส่งภาพข้อมูลตามมาตราฐาน DICOM 

ทำไมถึงต้องใช้ PACS
ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ระบบ PACS ก็เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์อย่างหนึ่ง ที่พัฒนามาเพื่อใช้กับแผนกรังสีโดยตรง เนื่องจากภาพถ่ายทางรังสีมีความจำเป็นในการช่วยวิเคราะห์โรค และรักษาผู้ป่วย ระบบ PACS จะช่วยให้แพทย์ ได้รับภาพถ่ายทางรังสี และผลวิเคราะห์จากรังสีแพทย์อย่างรวดเร็ว ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรค และให้การรักษา ผู้ป่วยได้เร็วยิ่งขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก นอกจากนี้ ปัญหาการจัดเก็บ และค้นหาฟิล็มเอ็กซเรย์ ก็ทำให้เกิดความล้าช้า ของการรายงานผลเอ็กซเรย์ได้ บางครั้งเราอาจจะพบว่ามีการสูญหายของฟิล็มเอ็กซเรย์ ซึ่งมีความจำเป็น ในการใช้เปรียบเทียบ การเปลี่ยนแปลงของโรค และการให้การรักษาต่อเนื่อง ระบบ PACS มีการจัดเก็บข้อมูล ไว้ในคอมพิวเตอร์ซึ่งมีระบบเก็บข้อมูลสำรอง จึงช่วยแก้ปัญหานี้ได้ 

เราจะได้อะไรจาก PACS  ข้อดีของระบบ PACS มีหลายอย่างดังนี้
  1. ผลดีต่อกระบวนการรักษาพยาบาล
    • ลดเวลาในการตรวจ และรอคอยผลการเอ็กซเรย์ เนื่องจากการล้างฟิล์ม และการค้นหาฟิล์มเก่า
    • ได้รับการวินิจฉัยโรค และได้รับการรักษาพยาบาลเร็วขึ้น เนื่องจากสามารถเรียกข้อมูลเก่าที่เก็บไว้ในระบบได้ตลอด เวลาทำให้แพทย์ สามารถเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง ของโรคได้ตลอดเวลาซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำ ยิ่งขึ้น และช่วยในการวางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง
    • ลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ จะได้รับเนื่องจากการถ่ายฟิล์มซ้ำ ที่เกิดจากการตั้งค่าเทคนิค ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย
  2. ประหยัดทรัพยากรและ รักษาสิ่งแวดล้อม
    • ลดอัตราการสูญเสียฟิล์มในการเอ็กซเรย์ซ้ำ เพราะระบบการถ่ายเอ็กซเรย์ที่เก็บภาพแบบ Digital ทำให้รังสีแพทย์ สามารถที่จะทำการปรับค่า ความสว่างของภาพได้
    • ลดการสูญหายของฟิล์มเอ็กซเรย์ที่จะเกิดขึ้นในระบบเก่า
    • ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการล้างฟิล์ม ( น้ำยาล้างฟิล์ม และ น้ำเสียจากเครื่องล้างฟิล์ม)
    • ลดพื้นที่ในการจัดเก็บฟิล์มเอ็กซเรย์
    • จะไม่มีการเสื่อมสภาพของภาพรังสี เพราะว่าข้อมูลภาพถ่ายทางรังสีจะถูกเก็บในรูปแบบ Digital 
ระบบ PACS จัดเก็บภาพเอ็กซเรย์อย่างไร
สำหรับระบบ PACS ในแผนกเอกซเรย์ สามารถทกการรับสัญญาฯ โดยทำการเชื่อมภาพที่เกิดจากเครื่องมือต่างๆ โดยผ่านมาตราฐานภาพ DICOM ดังนี้
  1. Spiral Computed Tomography เป็นเครื่องตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ระบบใหม่
  2. Digital Subtraction Imaging เป็นเครื่องตรวจเอ็กซเรย์ร่วมกับสารทึบรังสี เช่น การตรวจกระเพาะอาหาร ฯ
  3. Color Doppler Ultrasound เป็นเครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงระบบใหม่ สามารถตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือดได้
  4. Computed Radiograph (CR system) เป็นการถ่ายเอ็กซเรย์ทั่วไป แต่ใช้ Imaging plate แทนฟิล์ม แล้วนำเข้าเครื่องอ่าน ซึ่งจะได้ภาพเป็น digital image ซึ่งสามารถส่งเข้าจอวินิจฉัยภาพของรังสีแพทย์เพื่อแปลผล และส่งให้แพทย์ผู้ส่งตรวจได้พร้อมกันภาพจากเครื่องดังกล่าวทั้งหมดเป็นระบบดิจิตอลวึ่งจะถูกส่งมาเก็บในฐานข้อมูลของระบบ PACSและส่งไปยังจุดต่างๆที่จำเป็นทั่วโรงพยาบาล ดังนั้นเครื่องๆ ที่เป็น Digitalและมีมาตราฐาน DICOMก็สามารถเชื่อมต่อเข้าระบบ PACS ได้ 
  5. ถ้าเราต้องการฟิล์มเอ็กซเรย์จะทำอย่างไร บางครั้งเราจะพบว่า มีผู้ป่วยต้องการฟิล์มเอ็กซเรย์ ไปใช้ในการรักษาต่อที่อื่นซึ่งต้องใช้ฟิล์ม ในระบบ PACS สามารถที่จะทำการ พิมพ์ภาพถ่ายทางรังสีออกมาได้ โดยใช้เครื่อง Dry Thermal Imager ซึ่งต่อเชื่อมโยงกับระบบ PACS ที่ใช้สำหรับพิมพ์ภาพถ่าย ทางเอ็กซเรย์ลงฟิล์มเอ็กเซย์พิเศษได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยัง สามารถขอรับภาพถ่ายทางรังสีใ นรูปแบบของแผ่น CDแทนแผ่นฟิล์ม เพื่อนำไปทำการรักษา ต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องถือฟิล์ม จำนวนมากอีกต่อไป (ในกรณีที่สถานพยาบาล ที่จะใช้ข้อมูลภาพเหล่านี้ มีระบบคอมพิวเตอร์ที่รองรับได้) PACS 
ระบบที่ดีที่สุดของเอ็กซเรย์
มีผู้กล่าวเอาไว้ว่า ภายในอนาคตอันใกล้นี้ แผนกเอ็กซเรย์ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ส่วนใหญ่จะมีการ ควบคุมด้วยระบบ PACS การโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้มีการ นำเอาระบบ PACS เข้าใช้ในแผนกเอ็กซเรย์ ของโรงพยาบาล และในอนาคต คาดว่าจะมีโรงพยาบาล หลายแห่งจะมีการติดตั้งระบบ PACS กันมากขึ้น ซึ่งนั้นก็หมายความว่า ผู้เข้ามาใช้บริการ ของโรงพยาบาล จะได้รับความสะดวก และรวดเร็ว ในการตรวจบริการ ของแผนกเอ็กซเรย์ รวมไปถึงได้รับการวินิจฉัย และการรักษาพยาบาล จากแพทย์โดยเร็ว และ มีประสิทธิภาพ มากขึ้นอีกด้วย รวมทั้งสามารถ ที่จะทำการปรึกษาผลวินิจฉัยภาพได้ระหว่างโรงพยาบาล ที่มีการติดดั้งระบบ PACS ได้เช่นกัน
ที่มา http://www.xraythai.com


3. ทำความรู้จักกับ Microsoft Silverlight
เคยสงสัยบ้างมั๊ยครับ ว่าบางทีที่เราเปิดเว็บไซต์บางเว็บใน Internet Explorer ขึ้นมา แล้วจะมีตัวปลั๊กอินให้เราติดตั้ง Microsoft Silverlight ซึ่งบางคนก็คลิ้กติดตั้ง บางคนก็ปล่อยผ่านไป เพราะไม่รู้จักจริงๆ ว่า Microsoft Silverlight คืออะไรกันแน่ จำเป็นต้องติดตั้งจริงมากน้อยแค่ไหน Microsoft Silverlight คือตัวปลั๊กอินที่สามารถทำงานข้ามบราวเซอร์ ข้ามแพลตฟอร์ม ใช้ได้ทั้ง Windows และ Mac OS X รวมไปถึงระบบปฎิบัติการ Linux ที่กำลังร่วมมือในการพัฒนากับทาง Novell อยู่ในตอนนี้ เพื่อให้รองรับการทำงานทางด้านมัลติมีเดียบนเว็บไซต์ ได้อย่างเต็มรูปแบบมากที่สุด หรือจะบอกว่าเป็นตัวปลั๊กอินที่คล้ายๆ กับ Adobe Flash Player ก็ไม่เชิงครับ แถมคุณยังสามารถดาวน์โหลด Microsoft Silverlight ไปติดตั้งลงในเครื่องของคุณได้ฟรีๆ อีกด้วย ไม่เลือกว่าคุณจะใช้เว็บบราวเซอร์ตัวไหน รองรับการใช้งานได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Firefox, Safari หรือ Internet Explorer ที่ไมโครซอฟต์ต้องการผลักดันให้เป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคต...

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 มกราคม 2558 เวลา 20:14

    ที่รพ.ใช้เหมือนกัน ครับ ตัวนี้ แต่ปัจจุบันซื้อเอง กับบริษัทใหม่ ราคาและรูปแบบซอฟท์แวร์ น่าสนใจครับ ลดต้นทุนไปอีกมาก และวางแผนออกเป็นโมบายอีกตัว สำหรับออกการตลาดและใช้ ร่วมกันในจังหวัด

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สอบถามราคากับบริษัทครับ ช่วยแนะนำรายละเอียดหน่อยครับ ว่าราคาเท่าไหร่ บริษัทอะไร ได้อะไรบ้างครับ ทางเมลล์ jvloei@gmail.com ครับ รพ.ผมกำลังจะจัดซื้อครับ

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ2 พฤษภาคม 2558 เวลา 08:23

    รพ.ผมเคยใช้ยี่ห้อนี้ครับ ภาพพอใช้ ปัจจุบันเปลี่ยนเหมือนกันครับ

    ตอบลบ