วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เวชระเบียนผู้ป่วยเป็นของใคร

เมื่อประมาณเดือนกันยายน ๒๕๔๘ Medical News หัวข้อ “คุยกับแพทยสภา”ได้ลงบทสัมภาษณ์เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงประเด็น “เวชระเบียนผู้ป่วยเป็นของใคร” ซึ่งบทให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมีความน่าสนใจและเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะได้กล่าวถึง และน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านอย่างมากทีเดียว

บทสัมภาษณ์กล่าวว่า เวชระเบียนเป็น บันทึกของแพทย์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วย มีจุดประสงค์สำหรับแพทย์ใช้เองและเป็นสมบัติส่วนตัวของแพทย์ผู้นั้น แต่ถ้าผู้ป่วยร้องขอแพทย์ควรให้บทสรุปซึ่งรวมประวัติ ผลการตรวจร่างกาย ผลทางห้องปฏิบัติการ การดำเนินโรคและยาที่ให้ เพื่อให้แพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วยต่อไปรับทราบ การรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาเฉพาะของผู้ป่วย เป็นไปตามประกาศสิทธิผู้ป่วยซึ่งไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นข้อตกลงของสภาวิชาชีพซึ่งมีแพทยสภาเป็นแกนนำเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก เลขาธกิารแพทยสภาได้เน้นย้ำว่า ข้อมูลที่อยู่ในเวชระเบียน เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าแพทย์ได้ทำ อะไรไปบ้างในการตรวจรักษา แต่เวชระเบียนไม่ได้มีไว้เพื่อให้ผู้ป่วยเอาไปตรวจข้อผิดพลาดของบุคลากรทางการแพทย์

ในเรื่องนี้มีหลายฝ่ายเห็นพ้องด้วย แต่เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒ ๕ ๕ ๓ ศาลปกครองกลางได้ มีคำพิพากษาเป็น กรณที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและต้องรับการผ่าตัดสองครั้ง หลังผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการอัมพาต ขาทั้งสองข้างไม่มีความรู้สึกและไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ผู้ป่วยจึงได้สอบถามถึงสาเหตุของความพิการและรายชื่อแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดรักษา และให้ทนายความ แจ้งขอตรวจและคัดสำเนาเวชระเบียนจากโรงพยาบาล แต่ทางโรงพยาบาลมีหนังสือแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้เนื่องจากเอกสารสูญหายไปโดยแจ้งความไว้เป็นหลักฐานแล้ว ผู้ป่วยจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เอกสารเวชระเบียนเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายต่อศาลแพ่ง และเมื่อสิ้นสุดกระบวนการในการใช้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วย ข้อมูลข่าวสารของราชการแล้ว จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในประเด็น การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับรู้ข้อมูลในเวชระเบียนของผู้ป่วย อันถือเป็นการกระทำละเมิดในทางปกครอง และต้องชดใช้ค่าเสียหายปรากฏว่าในคดีนี้ศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โรงพยาบาลซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ นอกจากเอกสารเวชระเบียนจะเป็นเอกสารที่โรงพยาบาลจัดทำขึ้น และอยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยต่อไปหรือใช้เพื่อการศึกษาวิจัยแล้ว เวชระเบียนยังเป็นเอกสารที่ได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติสุขภาพ จึงเป็นข้อมูลข่าวสารราชการในลักษณะข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลสำหรับผู้ป่วย และถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 

การที่โรงพยาบาลได้แจ้งความว่าเอกสารเวชระเบียนสูญหาย แต่ในทางคดีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นใดที่พอฟังได้ว่า เวชระเบียนมิได้สูญหายไปจากความครอบครองของโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลปกปิดซ่อนเร้นไว้ โรงพยาบาลย่อมไม่อาจยกเอาความสูญหายของเวชระเบียนขึ้น กล่าวอ้างว่าเกิดจากบุคคลอื่นเพื่อบอกปัดความรับผิดของตนเองได้ แม้ว่าโรงพยาบาลจะได้มี การสรุปข้อมูลและประเมินผลการรักษาผู้ป่วยปรากฏตามใบสรุปข้อมูลการรักษา (DischargeSummary) ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนหรือเสมือนเวชระเบียนผู้ป่วยได้ จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ พิพากษาให้โรงพยาบาลชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คดีนี้ยังเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้นและยังไม่ถึงที่สุด โดยมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม ก็พอเป็นอุทาหรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเวชระเบียนผู้ป่วยและโรงพยาบาลที่จะต้องตระหนัก ให้ความสนใจเกี่ยวกับสิทธิของผู้ป่วยและการใช้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ เพราะต้องอย่าลืมว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

สุนิสา ปริพฤติพงศ์ นิติกร กองกฎหมาย ม.มหิดล
น้องแบงค์ ค้นคว้ามาให้อ่านค๊า..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น