วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

จุดเริ่มต้น..


ปี 2533 ..(ประมาณเดือน มิ.ย.-ต.ค.)
การฝึกงานของ พอ.52 ช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนที่จบการศึกษาและแยกย้ายกันไปทำงาน ผมและเพื่อนๆอีกหลายคนฝึกปฏิบัติงานชุมชนในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และเป็นครั้งที่แรกในชีวิตผมที่ได้มีโอกาสเดินทางมาที่นี่..
แม้จะเป็นหลักสูตรฝึกภาคสนาม ที่ต้องอยู่ประจำที่สถานีอนามัยตำบล ใช้ชีวิตกินนอนเข้าออกในหมู่บ้านเป็นบางวัน แต่ก็ยังต้องเข้ามาพบปะกับพี่เลี้ยงที่โรงพยาบาลเป็นระยะ จะว่าไปรุ่นผมจัดว่าเป็นรุ่นประวัติศาตร์ของ รพ.อุบลรัตน์ เพราะมีเหตุการณ์สำคัญๆที่น่าจดจำและไม่น่าจดจำอยู่หลายอย่าง..

ประมาณเดือนกันยายน นักศึกษาวิทยาลัยสาธารณสุข หลักสูตรเจ้าพนักงานเภสัชกรรมที่มาประชุมกันจากหลายสถาบัน ซึ่งมีวิทยาลัยสาธารณสุขขอนแก่นเป็นเจ้าภาพและมาล่องเรือเที่ยวเขื่อนอุบลรัตน์ เกิดอุบัติเหตุเรือนำเที่ยวรัชตะทัวร์ล่ม นักศึกษากว่า 39คน เสียชีวิต ซึ่งมีน้องๆที่ผมรู้จักและคุ้นเคยกันอยู่หลายคน ถัดมาเพียง 1วัน ข่าวของเรือล่มที่เขือนอุบลรัตน์แทบจะถูกกลบหายไปจากหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ เพราะเกิดเหตุการณ์รถบรรทุกแก๊สของบริษัทสยามแก๊สพลิกคว่ำบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ทำให้เกิดระเบิดเพลิงไหม้แผ่ขยายวงกว้าง มีคนเสียชีวิตกว่า 130 คน..
เป็นเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ไม่อยากจดจำเลยแม้แต่น้อย..

พอ.เป็นอักษรย่อของหลักสูตรพนักงานอนามัย (ในสมัยนั้น)รุ่น 51-52เป็นรุ่นแรกของการเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน ที่แตกต่างจากรุ่นก่อนๆ ซึ่งในชั้นปีที่ 2 ช่วง 6 เดือนสุดท้ายจะต้องไปใช้ชีวิตในชุมชนแบบลงลึก จนเพื่อนผมบางคนมีเมียเป็นตัวเป็นตนที่จีบกันตั้งแต่สมัยมาฝึกงานที่นี่..

ช่วงนั้นคุณหมออภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้เริ่มกระบวนการศึกษาวิจัยชุมชนโดยการให้พวกผมและเพื่อนๆ เก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยในเรื่องของการ ดูแลตนเองเวลาเจ็บป่วยของชาวบ้าน ครั้งนั้นก็เป็นการฝึกเก็บข้อมูลภาคสนามในการทำวิจัยครั้งแรก..

ผ่านมา 20กว่าปี โรงพยาบาลอุบลรัตน์ภายใต้การนำของคุณหมออภิสิทธิ์ และคณะเป็นโรงพยาบาลระดับแนวหน้าของประเทศในการทำงานเชิงรุก ที่เข้าใจ เข้าถึงชุมชน ที่เป็นแบบอย่างในด้านการพึ่งพาตนเอง เศรษฐกิจพอเพียง การทำงานร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านที่น่าไปศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างมาก..

ผมมีพี่พยาบาลที่เป็นพี่เลี้ยง 2-3 ท่าน ที่รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี สมัยนั้นยังซ่าๆตามประสาวัยรุ่น วัยวุ่นมีช่วงชีวิตที่เป๋ไปเป๋มาบ้าง  จะว่าไปชีวิตทุกวันนี้ที่เติบโตได้ดิบได้ดีส่วนหนึ่งก็เพราะครูดีและพี่เลี้ยงดีที่ รพ.อุบลรัตน์แห่งนี้ได้ช่วยชี้แนะ สั่งสอนอยู่ไม่น้อย..
หากเวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง บางทีชีวิตอาจจะเดี้ยงผิดที่ผิดทางไปไหนต่อไหนก็ไม่รู้...

ปี 2554
แม้จะไม่ค่อยได้ติดต่อกันมานาน แต่ความผูกพันธ์ยังมีอยู่เสมอ พี่อิ๋วและพี่พรรณ พี่เลี้ยงที่น่ารักของน้องๆติดต่อมาหาผม เรื่องที่อยากให้ไปช่วยพัฒนาระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลโดยเฉพาะการเปลี่ยน Software มาเป็น HOSxP  ซึ่งทำให้ผมไม่รอช้าคว้าปฏิทินงานมาดูแล้วเคลียคิวให้ว่างๆ สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ.. จนนัดหมายได้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ฤกษ์งามยามดี เดินทางกลับไปที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์อีกครั้ง..ในฐานะศิษย์เก่า

สิ่งสำคัญที่ผมจะต้องคิดให้มาก คือ การออกแบบระบบที่เทคโนโลยีสารสนเทศกับความพอเพียง พอดี ให้สอดคล้องไปด้วยกัน ลดเวลา ลดงานเอกสาร มีความสุขในการทำงาน และเพิ่มคุณภาพชีวิต..

  
 

หลังจากที่ใช้เวลากว่า 2ชั่วโมงสำหรับการสำรวจข้อมูลพื้นฐานและความต้องการเบื้องต้น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงพยาบาลยังมีโครงสร้างพื้นฐานไม่มากนัก รูปแบบการทำงานมีการนำคอมพิวเตอร์มาแบ่งเบาภาระงานบางส่วน ขาดความเชื่อมโยงของข้อมูล.. แต่ก็ถือว่าเป็นข้อดีสำหรับการที่ไม่มีอะไรมากจะง่ายสำหรับการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งจะต่างจากโรงพยาบาลที่มีระบบสารสนเทศมาแล้วและเคยใช้ software เก็บบันทึกข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายทั้งเต็มหรือไม่เต็มระบบ แต่ไม่สามารถตอบสนองได้ ใช้แล้วโปรแกรมมีปัญหามาก ฯลฯ ทำให้เจ้าหน้าที่จะขยาดต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะกลัวว่าเปลี่ยนแล้วจะไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม..
 

ช่วงบ่ายผมใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในการชี้แจงให้กับคณะกรรมการบริหารทราบถึงที่มาที่ไป จุดดี จุดด้อย โอกาสและปัญหา ที่จะตามมาหลังจากโรงพยาบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบงานที่มาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เพิ่มมากขึ้นกว่าระบบเดิม..

แผนพัฒนาที่กำหนดไว้หลังจาก คือ โรงพยาบาลอุบลรัตน์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย และในขณะเดียวกันจะมีการความพร้อมด้าน Hardware Software ไปพร้อมกัน หลังจากนั้นจะเป็นการฝึกอบรมการใช้งาน การโอนฐานข้อมูล ซึ่งคิดว่าน่าจะเริ่มใช้งานได้ประมาณต้นปี 2555 ซึ่งก็มีเวลาประมาณ 2 เดือน

ก่อนเดินทางกลับผมได้รับความกรุณาจากท่านผู้อำนวยการ ที่แนะนำเรื่องการปลูกต้นยางนา พร้อมกับได้รับแจกต้นพันธุ์ยางนากว่า 50 ต้น พร้อมกับหนังสือวารสารค้ำคูน และชีวประวัติของนายแพทย์ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจมากครับ...

การได้เดินทางกลับมายังจุดเริ่มต้นในครั้งนี้..สำหรับผมจึงไม่ใช่แค่การกลับมาช่วยงานเท่านั้น แต่เป็นการกลับมาด้วยความรัก ความผูกพันธ์ และตั้งใจอยากมาทดแทนบุญคุณให้กับผู้ที่เป็นครูในด้านความคิด และแบบอย่างการใช้ชีวิตการทำงาน..และพี่ๆที่โรงพยาบาลทุกๆท่าน ที่เคยเมตตา กรุณา อุเบกขา..ในสมัยที่พวกผมยังเป็นนักศึกษาฝึกงาน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น