วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

การเปลี่ยนแปลง

คนที่ทำงานอยู่ในวงการคอมพิวเตอร์คงรู้ดีว่าโลกของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด หากมองย้อนไปในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาหลายคนคงเริ่มต้นเตาะแตะกับเทคโนโลยีพวกนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นระบบ DOS, จอคอมโพสิต , CW โปรแกรมเวิร์ดของจุฬา ฯลฯ สมัยนั้น Database ก็คงเป็น dBase จำได้ว่ายังเคยได้ใช้ Lotus 1-2-3 สำหรับงานคำนวน และโปรแกรมอย่าง ฮาร์วาดกราฟฟิกสำหรับทำกราฟสวยๆ ผมก็เคยเป็นคนในยุคที่เริ่มต้นพื้นฐานมาจาก DOS 


ส่วนโปรแกรมเสริมอื่นๆมีให้เลือกมากมายหลายโปรแกรม บางตัวมีการเปลี่ยนแปลงอัพเดตตัวเองให้ทันโลกที่เปลี่ยนไป แต่หลายโปรแกรมก็ล้มหายตายจาก เป็นความทรงจำให้คนที่เคยใช้ได้ระลึกถึงสมัยเมื่อครั้งที่มันยังเป็นโปรแกรมยอดนิยม..

การเราที่ได้ศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาโปรแกรมอะไรขึ้นมาซักอย่าง ทำมันมากับมือ และนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงาน ทำให้คนอื่นได้ใช้และมันสร้างความภาคภูมิใจกับโปรแกรมที่เราสร้างขึ้นมา และจนวันหนึ่งมีคนไม่สนใจในคุณค่าที่เราอุตส่าห์เพียรทำมาหลายสิบปี ไม่ใช่เรื่องผิดหรอกครับที่เราจะคิดแบบนั้นถ้ามันเป็นโปรแกรมที่เราเขียนเพื่อใช้งานของเราเพียงคนเดียว เราจะอนุรักษ์ ทนใช้ ก็คงไม่มีใครว่า แต่สำหรับคนที่เป็นผู้ดูแลระบบสารสนเทศให้องค์กรต้องคิดให้รอบคอบ และคิดให้ไว คิดช้าไปองค์กรอาจต้องคลานต้วมเตี้ยม หรือต้องผิดพลาด ล้มๆ ลุก กับฐานข้อมูลที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ ในขณะที่องค์กรอื่นเขาไปถึงไหนต่อไหน แต่เรายังมาพร่ำยึดติดกับ คำว่า " ของกู ๆ" 

"รอให้พร้อม"  มันไม่ต่างอะไรกับการทำร้ายองค์กรทางอ้อมที่ต้องรอให้ "โปรแกรมของกู" ไปไม่ไหว หรือกูไม่อยู่แล้วอนาคตองค์กรจะเดือดร้อนยังไงก็ช่าง  ถึงเวลานั้นแล้วค่อยปล่อยวางให้คนรุ่นหลังมาแบกภาระต่อทำได้ไม่ได้ก็เรื่องของมัน แล้วก็จากไปด้วยความภูมิใจพร่ำเพ้อรำพันกับผลงานของตัวเองในอดีต

แอดมินที่ดี ไม่ควรคิดอย่างนั้นครับ..เป็นทัศนคติที่อันตรายสำหรับองค์กร เพราะถ้าองค์กรยังรักยังดูแลก็จะ "ทำงาน" แต่ถ้ารู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าก็พร้อมจะ "พาล" คนอื่นโดยไม่แคร์อะไร

สิ่งที่พวกเราควรทำคือ การให้องค์กรสามารถมีระบบสารสนเทศที่ทำงานต่อได้ ไม่ว่าเราจะยังอยู่หรือไม่อยู่ ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร พวกเราอาจจะยังอยู่ หรือย้าย ตาย หรือพิการ เป็นสมองเสื่อมจำอะไรไม่ได้ แต่องค์กรของเรายังต่อดำเนินงานต่อไปได้โดยไม่ติดขัด ดังนั้นการวางระบบที่ดีต้องให้คนในองค์กรสามารถดูแลพัฒนาต่อได้ไม่ต้องรอพึ่งแต่เราเพียงคนเดียว..  

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเป็นสิ่งที่เกิดตลอดเวลา ถ้าเรารู้ว่ามีอะไรที่ดีกว่าสำหรับองค์กรหน้าที่ของเราก็ต้องรีบศึกษา เรียนรู้ นำเสนอข้อดีข้อเสียให้ผู้บริหารและคนในองค์กรเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การที่องค์กรจะเอาข้อมูลจากโปรแกรมเดิมไปใช้ประโยชน์ต่อยอดไปสู่โปรแกรมอื่นที่ดีกว่าก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรม และหากมีความต้องการให้เราช่วยเหลือ พวกเราควรให้ความร่วมมือในการผ่องถ่ายในฐานะที่พวกเราเป็นคนที่รู้ระบบข้อมูลดีที่สุด ผมไม่อยากให้พวกเราจะยึดติดกับวิธีคิดว่าผลงานการพัฒนาระบบข้อมูลที่ผ่านมาเป็นของเรา เราทำมากับมือ จะให้ใครมาชุปมือเปิปได้ไง เพราะถ้าใครคิดแบบนี้ผมคงจะย้อนถามว่าข้อมูลขององค์กรเหล่านี้..มันเป็นของพวกเราตั้งแต่เมื่อไหร่..? เพราะแท้ที่จริงแล้วมันเป็นขององค์กรครับ องค์กรจ้างเราให้ทำงาน เราทำหน้าที่ของเรา องค์กรก็จ่ายค่าตอบแทนให้ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ของๆเรา และไม่เคยใช่มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว..

ดังนั้นการวางระบบขององค์กร ควรอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเองให้มากที่สุดครับ ตัั้งแต่การ เตรียม Hardware  Software และการเตรียม "คน" ตั้งแต่ความเข้าใจ ความรู้ และการฝึกปฎิบัติ คนในองค์กรก็ต้องเรียนรู้ด้วยครับว่า ระบบพวกนี้มันยาก ต้องการความร่วมมือ ไม่ใช่อยากได้ข้อมูลแต่ไม่อยากบันทึก ไม่อยากทำ ไม่อยากเปลี่ยนแปลง เพราะคนทุกคนในองค์กร คือ องค์ประกอบสำคัญที่สามารถทำให้ข้อมูลมีคุณภาพดีหรือไม่ดี ซึ่งวิธีการแบบนี้จะช่วยให้คนในองค์กรพร้อมรับมือกับความเปลียนแปลง..

หากโลกของเทคโนโลยียังพัฒนาต่อเนื่องอย่างนี้ ในอนาคตมันคงมีอะไรใหม่ๆ ที่ดีกว่า และหากวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้งผมอยากให้พวกเราทุกคนคิดอย่างมืออาชีพครับ เพราะคนที่เป็น  "มืออาชีพ"  เขาจะเตรียมตัวฟิตซ้อม และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา"..





1 ความคิดเห็น:

  1. คนที่มีความสามารถจริง จะใช้ศักยภาพที่มีไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลง แต่คนที่ด้อยความสามารถ จะใช้ศักยภาพที่มี.. หมด..ไปแล้วในครั้งเดียว..จึงขลาดกลัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

    ตอบลบ