วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555

การศึกษาวอลดอร์ฟ

โดย : ผศ. ดร.บุษบง ตันติวงศ์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความเป็นมา
รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (1861-1925)นักปราชญ์ผู้ก่อตั้งการศึกษาวอลดอร์ฟ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1861ในฮังการี การศึกษาของเขาในช่วงต้นคือวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผลงานเขียนในระยะแรกเกี่ยวกับปรัชญาของคานต์ (Kant)ต่อมาเขาได้ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ ปรัชญา และวรรณคดีและศึกษางานของเกอเธต์อย่างลึกซึ้งจนสามารถเป็นบรรณาธิการงานเขียนทางวิทยาศาสตร์ของเกอเธต์และซิลเลอร์ นักปรัชญาชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียง รูดอล์ฟ สไตเนอร์พัฒนาปรัชญาของเขาต่อมาอีกด้วยการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง

ทฤษฎีว่าด้วยความรู้ อันเป็นผลงานชิ้นสำคัญในชีวิตโดยได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ The Philosphy of Freedom (ปรัชญาแห่งความเป็นอิสระและหลุดพ้น) งานของเขาตั้งแต่นั้นจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตคือการศึกษาเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และการแสวงหาความจริงของมนุษย์ปรัชญา (Anthroposophy)ซึ่งเขาพัฒนาขึ้นถือเป็นศาสตร์แห่งจิตวิญญาน(SpiritualScience)ที่ก้าวพ้นความจำกัดของการแสวงหาความจริงเฉพาะจากการรับรู้ที่เป็นรูปธรรมตามปรัชญาของคานต์ ไปสู่การแสวงหาความจริงจากการรับรู้ของทั้งกายและจิตทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มิได้แยกจากอารมณ์ความรู้สึกแต่อยู่คู่กันอย่างกลมกลืนจะนำมนุษย์ไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง นั่นคืออิสระและการหลุดพ้น มนุษย์ปรัชญานี้เป็นพื้นฐานการศึกษาของวอลดอร์ฟ


โรงเรียนของวอลดอร์ฟแห่งแรกตั้งขึ้นในช่วงเวลาแห่งความลำบากของชาวเยอรมัน หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาวเยอรมันแสวงหาวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมที่โหดร้ายทารุณต่อมนุษยชาติให้สิ้นไป เอมิล มอลต์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ วอลดอร์ฟแอสโทเรียที่สตุทการ์ท เป็นนักอุตสาหกรรมที่ต้องการเปลี่ยนทิศทางของสังคมเสียใหม่ในค.ศ.1919 เขาได้เชิญสไตเนอร์ไปบรรยายแนวคิดของเขาให้คนงานในโรงงานฟัง และได้รับการร้องขอจากทางโรงงานให้เปิดโรงเรียนตามปรัชญาของเขาให้แก่บุตรหลานของคนงานรวมทั้งเปิดหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ด้วย

การศึกษาวอลดอร์ฟเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวตามมนุษย์ปรัชญา (Anthroposophy)เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมให้สามารถพัฒนามนุษย์ให้ได้ถึงส่วนลึกที่สุดของจิตใจ การเคลื่อนตามปรัชญานี้ก่อให้เกิดการพัฒนาในศาสตร์สาขาต่างๆที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์เพื่อนำไปใช้ในโรงเรียน ชุมชนและสังคม ศาสตร์เหล่านั้นได้แก่ การแพทย์ เภสัชกรรม สถาปัตยกรรม เกษตรกรรม การธนาคารชุมชน วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแบบเกอเธต์ การละคร ดนตรีและศิลปะ ศิลปะการเคลื่อนไหวแบบยูริธมี การศึกษา การศึกษาพิเศษ ศิลปบำบัด จิตวิทยาการแนะแนวแบบร่วมมือ

ตลอดเวลา 80 ปี ที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกขึ้น การศึกษาของวอลดอร์ฟ ได้แพร่หลายไปทั่วโลกปัจจุบันมีโรงเรียนอนุบาลตามแนวนี้ 087โรง โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 640 โรง ศูนย์บำบัดกว่า300 แห่ง และสถาบันฝึกหัดครูกว่า 50 แห่ง ใน 56 ประเทศทั่วโลก

เป้าหมายของการศึกษาวอลดอร์ฟคือ ช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมีและสามารถกำหนดความมุ่งหมายและแนวทางแก่ชีวิตของตนได้อย่างอิสระตามกำลังความสามารถของตน แต่มนุษย์จะบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนไม่ได้ถ้าเขายังไม่มีโอกาสได้สัมผัสหรือค้นพบส่วนต่างๆหลายส่วนในตนเอ ด้วยเหตุนี้การศึกษาวอลดอร์ฟจึงเน้นการศึกษาเรื่องมนุษย์และความเชื่อมโยงของมนุษย์กับโลกและจักรวาล การเชื่อมโยงทุกเรื่องกับมนุษย์ไม่ใช่เพื่อให้มนุษย์ยึดตนเอง (อัตตา)แต่เป็นการสอนให้มนุษย์รู้จักจุดยืนที่สมดุลของตนในโลกมนุษย์ปรัชญาเน้นความสำคัญของการสร้างสมดุลใน สาม วิถีทางที่บุคคลสัมพันธ์กับโลกคือผ่านกิจกรรมทางกาย ผ่านทางอารมณ์ความรู้สึกและผ่านการคิด

การศึกษาวอลดอร์ฟมุ่งพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่มีบุคลิกภาพที่สมดุลกลมกลืนและให้เด็กได้ใช้พลังทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญา ด้านศิลปะและด้านการปฎิบัติอย่างพอเหมาะ

แนวคิดสำคัญ
1. แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลก 3 โลกคือ
    • โลกแห่งวัตถุ( Physical word) 
    • โลกแห่งความรู้สึก(soul word)
    • โลกแห่งจิตวิญญาณ( physical body)กายแห่งความรู้สึก( ethericbody and astral body)และจิตวิญญาณ(spirit)
มนุษย์ก่อกำเนิดในโลกแห่งวัตถุ เติบโตผ่านโลกแห่งความรู้สึกและผลิบานในโลกแห่งจิตวิญญาณ มนุษย์ประกอบด้วยส่วนต่างๆดังนี้
  1. รูปกาย(physical body) เป็นส่วนที่พัฒนาอวัยวะรับรู้ความรู้สึกเพื่อเรียนรู้ความจริงในโลกแห่งวัตถุและพัฒนา อวัยวะสำหรับการหยั่งรู้เพื่อเรียนรู้ความจริงในโลกแห่งจิตวิญญาณ รูปกายมีคุณสมบัติร่วมกับธาตุต่างๆในโลก อันมีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสำคัญ
  2. กายชีวิตหรืออินทรีย์แห่งลมปราณ(Life or etheric body)เป็นส่วนที่หล่อเลี้ยงรูปกายให้เจริญเติบโต มีคุณสมบัติแห่งชีวิตที่มนุษย์มีร่วมกับพืช
  3. กายแห่งผัสสะ( astral body) เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิด มีคุณสมบัติแห่งสัญชาตญาณที่มนุษย์มีร่วมกับสัตว์
  4. จิตแห่งความรู้สึก(sentient.soul)เป็นดวงจิตที่รับรู้โลกภายนอก ผ่านกายแห่งผัสสะ (astral body) ทำให้เกิดความต้องการและความรู้สึกต่างๆ เช่น โลภ โกรธ หลง ดวงจิตนี้ยังมีคุณสมบัติที่มนุษย์มีร่วมกับสัตว์
  5. จิตแห่งปัญญา(intllectual soul) เป็นดวงจิตที่สูงกว่าดวงจิตแห่งความรู้สีก เนื่องจากมีความคิดเหตุผลเพิ่มขึ้นแต่ยังพัวพันกับดวงจิตแห่งความรู้สึก ซึ่งยังมีความต้องการและความรู้สึกต่างๆอยู่
  6. จิตสำนึก(consciousness or spriritual soul) เป็นสำนึกที่ลึกลงไปในดวงจิต ซึ่งทำให้ดวงจิตปราศจากอคติ ไม่ว่าจะเป็นการรังเกียจฉันท์หรือการเข้าข้างพวกพ้อง
  7. จิตวิญญาณแห่งตัวฉัน(spirit self) เป็นจิตวิญญาณของเอกัตบุคคลที่รับรู้โลกแห่งจิตวิญญาณผ่านการหยั่งรู้(intuition)ที่เกิดขึ้นในตัว อันเป็นผลมาจากภาพสะท้อนของความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัวจากโลกของวัตถุ และจากภาพสะท้อนของความจริงและความดีนิรันดร์จากโลกแห่งจิตวิญญาณ จิตวิญญาณแห่งตัวฉัน(spirit self) เป็นกายแห่งผัสสะ(astral body) ที่พัฒนาแล้ว
  8. จิตวิญญาณแห่งชีวิต (life.spirit)เป็นพลังชีวิตของจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับกายที่ชีวิตหรืออินทรีย์แห่งปราณ (life or etheric body) เป็นพลังที่หล่อเลี้ยงรูปกาย(physical body) ให้เติบโตรูปกายมีผิวกายจำกัดขอบเขต ทำให้แต่ละคนรู้สึกกับธาตุต่างๆในโลกไม่เหมือนกัน จิตวิญญาณก็มีผิวของจิตวิญาณ(spiritual skin หรือ auras heath)ซึ่งทำหน้าที่จำกัดหรือแยกขอบเขตของจิตวิญาณของเอกัตบุคลให้เป็นอิสระจากโลกของจิตวิญาณในขณะที่ผิวกายจำกัดขอบเขตการเจริญเติบโตของรูปกาย ผิวของจิตวิญาณ (spiritual skin) สามารถขายเพื่อรับการหล่อลี้ยงความรู้จากโลกของจิตวิญาณได้ไม่สิ้นสุด จิตวิญาณแห่งชีวิต(life spirit) เป็นกายชีวิต(life body)ที่พัฒนาแล้ว
  9. มนุษย์ที่มีจิตวิญาณของความเป็นมนุษย์(spirit man) เป็นผู้ที่มีจิตวิญาณที่เป็นอิสระจากโลกของวัตถุและโลกของจิตวิญาณ มนุษย์ที่มีจิตวิญาณของความเป็นมนุษย์ที่ได้หล่อเลี้ยงทางจิตวิญาณ จากจิตวิญาณแห่งชีวิต(life spirit)ซึ่งอยู่ภายใต้ผิวของจิตวิญาณ(spirtual skin) เช่นเดียวกับที่รูปกาย (phyical body)ได้รับการหล่อเลี้ยงจากกายชีวิต (life or etheric body )มนุษย์ที่มีจิตวิญาณของความเป็นมนุษย์(spirit man) คือรูปกาย(phyical body)ที่ผ่านการพัฒนาทางจิตวิญาณแล้ว
2.ทฤษฎีพัฒนาการ
  • พัฒนาการของมนุษย์ในช่วงแรกเกิด-21 ปีรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ได้แบ่งพัฒนาการตลอดชีวิตมนุษย์ไว้ช่วงละ 7 ปี ช่วงที่เด็กพัฒนาในระบบการศึกษา คือตั้งแต่แรกเกิดถึง 21 ปี ซึ่งครอบคลุมพัฒนาการ 3 ช่วงแรก มีลักษณะสำคัญต่อไปนี้
ช่วงอายุ
พัฒนาการของระบบในร่างกาย
กิจกรรมภายใน
ระดับการตระหนักรู้ขณะเรียน
สิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้
การเรียนรู้ที่จำเป็น
0-7
ระบบย่อยอาหารและการเจริญเติบโตของแขนขาเพื่อสร้างรูปกาย
ความมุ่งมั่นตั้งใจ(willing)
ไม่รู้ตัว
ความประทับใจในผู้ที่เป็นต้นแบบ
จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าโลกนี้ดี
7-14
ระบบการหายใจและการเต้นของหัวใจเพื่อสร้างพื้นอารมณ์
ความรัก(feeling)
กึ่งฝัน
ความรักในผู้นำ
จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าโลกนี้งดงาม
14- 21
ระบบประสาทเพื่อสร้างการคิดเหตุผล
ความคิด(thinking)
รู้ตัว
ความศรัทธาในความถูกต้องของอุดมคติ
จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าโลกนี้เป็นจริง
  • ความรู้สึกของมนุษย์กับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ประสบการณ์ที่ทำให้เด็กได้รับความรู้สึกต่างๆในแต่ละช่วงวัยจะเป็นพื้นฐานของพัฒนาการของช่วงกับที่สูงขึ้น รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ได้กล่าวถึงความรู้สึกของมนุษย์ว่าประกอบด้วยด้านต่างๆดังนี้
    1. ความรู้สึกจากการสัมผัส(sense of touch)
    2. ความรู้สึกแห่งชีวิต(sense of life)หมายถึงความรู้สึกสุขทุกข์
    3. ความรู้สึกจากการเคลื่อนไหว(sense of movement)
    4. ความรู้สึกสมดุลของร่างกาย(sense of balance)
    5. ความรู้สึกจากการได้กลิ่น(sense of smell)
    6. ความรู้สึกจากการลิ้มรส(sense of taste)
    7. ความรู้สึกจากการเห็น(sense of sight)
    8. ความรู้สึกถึงอุณหภูมิ(sense of temperature)
    9. ความรู้สึกจากการได้ยิน(sense of hearing)
    10. การรู้สึกถึงความหมายของถ้อยคำ(sense of words)
    11. การรู้สึกถึงความคิด(sense of thought)
สำหรับช่วงวัยแรกเกิดถึง 7 ปี ประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึก 4 ด้านแรกจะช่วยให้เด็กพัฒนาความรู้สึกที่สัมผัสกับโลกที่เป็นจริงรอบตัวอย่างมั่นใจและเป็นสุข กล่าวคือ
  • ความรู้สึกจากการสัมผัสจะทำให้เด็กไม่ขลาดกลัว
  • ความรู้สึกแห่งชีวิตจะทำให้รู้จักความสุข แจ่มใส
  • ความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวจะทำให้เด็กรู้สึกเป็นอิสระ
  • ความรู้สึกสมดุลของร่างกายจะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและสงบภายใน
ความรู้สึก 4ด้านดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาความมุ่งมั่นตั้งใจ(wiling)ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานของประถมวัย  
ความรู้สึกที่ 5-8จะช่วยให้เด็กวัย 7-14ปี ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกอันนำไปสู่การพัฒนาการความรู้สึก(feeling )ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานของเด็กวัยนี้

ความรู้สึกที่ 9-11จะช่วยให้คนหนุ่มสาววัย 14-21 ปีรู้สึกรับผิดชอบอันนำไปสู่การพัฒนาความคิด(thinking) ซึ่งเป็นพัฒนาการพื้นฐานของวัยนี้

กระบวนการ
  1. การจัดการศึกษา การศึกษาต้องพัฒนามนุษย์ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ด้วยการพัฒนาให้มนุษย์เข้าถึงสัจธรรม เด็กวัยแรกเกิดถึง 7ปี เรียนรู้ด้วยการกระทำ ดังนั้นการสอนต้องเน้นให้เด็กมุ่งมั่นตั้งใจกับการกระทำความดีเด็กวัย 7-14ปี เรียนรู้จากความประทับใจ ดังนั้นการสอนต้องเน้นให้เด็กรู้สึกถึงความงามเด็กวัยหนุ่มสาววัย 14-21 ปี เรียนรู้จากการคิด ดังนั้นการสอนต้องเน้นให้เด็กคิด จนเกิดปัญญา เห็นสัจธรรมและความจริงในโลก   แม้ว่าพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันแต่การศึกษาทุกระดับต้องพัฒนาร่างกายและจิต   วิญญาณควบคู่กันโดยให้เกิดความสมดุลในการเรียนรู้ด้วยกาย(ลงมือกระทำ)หัวใจ (ความรู้สึก ความประทับใจ)และสมอง (ความคิด )   เนื่องจากเด็กวัยแรกเกิดถึง 7 ปี มีลักษณะที่เรียนรู้พร้อมกันไปทั้งตัวโดยการเลียนแบบที่มิใช่เฉพาะท่าทางภายนอก แต่เลียนแบบที่ลึกลงไปในจิตวิญญาณโดยที่เด็กเองไม่รู้ตัว ในวัยนี้ความดีงามของผู้ใหญ่รอบข้างจะซึมเข้าไปในตัวเองช่วยให้เด็กพัฒนา ความมุ่งมั่นในสิ่งดีงาม ดังนั้น การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยจึงยึดหลักต่อไปนี้
    • การทำซ้ำ ( repetition) เด็กควรได้มีโอกาสทำสิ่งต่างๆซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนการกระทำนั้นซึมลึกลงไปในกายและจิตจนเป็นนิสัย
    • จังหวะที่สม่ำเสมอ( rhythm )กิจกรรมในโรงเรียนต้องเป็นไปตามจังหวะสม่ำเสมอเหมือนลมหายใจเข้า - ออก ยามจิตใจสงบและผ่อนคลาย เด็กจะได้รู้สึกมั่นคงและปลอดภัย
    • ความเคารพและการน้อมรับคุณค่าของทุกสิ่ง กิจกรรมและสื่อธรรมชาติที่จัดให้เด็กเพื่อให้เด็กเคารพและน้อมรับคุณค่าของสิ่งต่างๆที่เกื้อหนุนชีวิตมนุษย์ ความเคารพและน้อมรับคุณค่าของสิ่งต่างๆจะเป็นแก่นของจริยธรรมตลอดชีวิตของเด็ก
  2. บทบาทครู ครูอนุบาลตามแนวคิดของวอลดอร์ฟนอกจากเป็นแบบอย่างของความมุ่งมั่นตั้งใจให้แก่เด็กแล้วยังมีบทบาทสำคัญอื่นๆได้แก่ การสังเกตเด็กขณะที่เด็กเรียน ไตร่ตรองความเจริญก้าวหน้าและปัญหาของเด็กหลังสอนและก่อนสอนการทำงานกับพ่อแม่เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันและกันในฐานะผู้ร่วมกรุยทางชีวิตให้แก่เด็ก การปฎิบัติสมาธิ การทำกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมอื่นๆเพื่อพัฒนาตนเอง

    ในแต่ละวัน ครูอนุบาลเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตของเด็กขณะอยู่ที่โรงเรียน ความคิด ความรู้สึกและความมุ่งมั่นตั้งใจของครูถ่ายทอดสู่เด็กโดยตรงด้วยพลังทั้งหมดในตัวครู ไม่ใช่เพียงผู้อำนวยการ ความสะดวกในการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็กครูมิใช่เป็นผู้เรียกร้องหรือสร้างกฎเกณฑ์การกระทำของเด็กแต่ครูเป็นผ(ส่งพลังความมุ่งมั่นที่มีในตัวทั้งหมดให้แก่เด็กโดยการเป็นแบบอย่างของบุคคลที่พัฒนาความเป็นมนุษย์ในตัวเองตลอดเวลาพลังความมุ่งมั่นตั้งใจของครูจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนากายและจิตวิญญาณของเด็กทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่
  3. การจัดบรรยากาศ เนื่องจากเด็กวัยแรกเกิดถึง 7ปี เป็นวัยที่เรียนรู้จากการเลียนแบบซึ่งการเลียนแบบนี้มิใช่เป็นการเลียนแบบอย่างผิวเผินเพียง แต่ท่าทางหรือคำพูดแต่เป็นการเลียนแบบลึกลงไปถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด สิ่งที่เด็กเลียนแบบไปในช่วงนี้ฝังลึกลงไปในเด็กและจะหล่อหลอมเด็กทั้งกายและจิตวญญาณ การเรียนรู้ของเด็กเป็นการเรียนผ่านจิตใต้สำนึกเพราะฉะนั้นสิ่งที่เด็กเรียนรู้ไปจะส่งผลต่อสุขภาพกาย กริยาท่าทาง อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด โดยไม่รู้ตัวและจะฝังแน่นไปจนโตการจัดการศึกษาเพื่อเด็กต้องคัดเลือกสิ่งที่ดีงามให้แก่เด็ก และปกป้องเด็กจากสิ่งที่จะทำลายความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาซึ่งเป็นความดีงามที่ติดตัวเด็กมา 
    ด้วยแนวคิดดังกล่าวการจัดบรรยากาศภายในห้องเรียน อาคารเรียนและบริเวณโรงเรียนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการศึกษาวอลดอร์ฟ ความงดงามของธรรมชาติจะปรากฎอยู่ทั้งกลางแจ้งและภายในอาคาร ภาพศิลปะ งานปฏิมากรรมกลิ่นหอมของธรรมชาติเป็นส่วนที่ทำให้บรรยากาศสงบและอ่อนโยน 

    ทฤษฎีเกี่ยวกับสีของเกอเธต์และสถาปัตยกรรมตามแนวมนุษย์ปรัซญา เป็นพื้นฐานในการจัดบรรยากาศการเรียนรู้สำหรับเด็กในศาสตร์ด้านการศึกษา สีที่เหมาะสมกับเด็กแรกเกิดถึง 7 ปีคือ สีส้มอมชมพู เพราะเป็นสีที่นุ่มนวลทำให้เด็กรู้สึกถึงความรักความอบอุ่นและช่วยให้ร่างกายสดชื่นแจ่มใส ไม่เคร่งเครียดอ่อนล้า ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เด็กสงบมีสมาธิต่อจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของตน ไม่ตื่นเต้นลุกลี้ลุกลนจนไม่สามารถอยู่นิ่งได้   

    แสงที่พอเหมาะกับเด็กอนุบาล คือ แสงธรรมชาติที่ไม่จ้าเกินไปหรือมืดทึมเกินไป แสงที่จ้าเกินไปทำให้เกิดความร้อนและเด็กจะขาดสมาธิ ม่านผ้าจะช่วยกรองแสงให้อยู่ในนระดับที่พอเหมาะ ถ้าห้องมืดเกินไปควรใช้แสงสว่างเช่นเดียวกับแสงอาทิตย์โดยเปิดไฟหรือหรือตั้งโคมไฟในบางจุดที่จำเป็น ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟทั่วทั้งห้องการทำกิจกรรมในห้องที่มีแสงสว่างธรรมชาติช่วยให้เด็กปรับตัวให้เรียนรู้โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งเร้าเกินจำเป็น 
    เสียงเป็นสิ่งเร้าที่เด็กไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่อเด็กเห็นแสงหรือสีที่รุนแรงเกินไปเด็กสามารถหลับตาหรือหันไปทางอื่นได้แต่เด็กจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงเสียงดังหรือเร่งเร้าเกินไปได้ เด็กอาจจะยกมือขึ้นอุดหูแต่ก็ทำได้ชั่วขณะดังนั้นเสียงที่เป็นโทษเหล่านั้นก็จะเข้าสู่โสตประสาทและจิตใจของเด็กโดยเด็กไม่อาจปฏิเสธได้ทำให้เด็กขาดสมาธิหงุดหงิดโดยไม่รู้สาเหตุ

    เสียงที่ไพเราะอ่อนโยนและดังพอเหมาะช่วยให้จิตใจอ่อนโยนด้วยเหตุนี้เสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง ลมพัด ฝนตก เสียงดนตรีและเพลงที่ไพเราะอ่อนโยนและความเงียบเป็นส่วนสำคัญในการจัดบรรยากาศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านทั้งจิตใต้สำนึกของเด็กตลอดทั้งวัน
  4. เนื้อหาสาระ ในระดับปฐมวัยจะไม่มีการแบ่งเนื้อหาสาระเป็นวิชาแต่จะเป็นการจัดเนื้อหาสาระในรูปของประสบการณ์ในการเล่นและในการดำเนินชีวิตถ้าพิจารณาเนื้อหาสาระในแง่วิชาต่างๆก็จะพบว่าเนื้อหาสาระเหล่านั้นบูรณาการกันอย่างแน่นสนิทในกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตามการอธิบายเนื้อหาสาระเป็นวิชาอาจทำได้โดยสังเขปดังนี้
    1. ภาษา ในช่วงปฐมวัย ภาษาพูดเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเพราะภาษาพูดสามารถสื่อเข้าไปถึงดวงจิตของเด็ก ครูทุกคนต้องผ่านการฝึกฝนในหลักสูตรฝึกหัดครูให้สามารถพูดได้ชัดเจน มีศิลปะในการใช้ภาษาได้อย่างไพเราะ ลึกซึ้งเด็กจะได้คุ้นเคยและสั่งสมความรู้สึกซาบซึ้งในความงดงามของรูปแบบและจังหวะของภาษา ครูใช้นิทานและคำประพันธ์เพื่อให้เด็กได้สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถสื่อจากครูผ่านภาษาได้ เทพนิยายเป็นสื่อที่ครูใช้ในการเล่านิทานเพราะเทพนิยายแฝงภูมิปัญญาและความจริงทางจิตใจที่เด็กเห็นภาพได้ ครูจะเล่านิทานปากเปล่าโดยอาจเล่นนิ้วมือหรือหุ่นง่ายๆประกอบและจะไม่ใช้สื่อมากจนจำกัดจินตนาการของเด็ก ภาษาพูดของครูจะกระตุ้นให้เด็กๆสร้างจินตนาการภายในใจของแต่ละคน ทุกสิ่งมีชีวิตจิตใจพูดกันได้ ครูจะไม่เปิดเทปนิทานหรือเพลงเพราะภาษาจากสื่อเหล่านั้นเป็นภาษาที่ไม่มีชีวิตและไม่สามารถส่งพลังสั่นสะเทือนเข้าไปกระตุ้นการตอบสนองที่ละเอียดอ่อนภายในกายของ เมื่อเด็กได้ยินภาษาพูดนั้นได้เด็กจะซึมซับเรื่องราวของเทพนิยายผ่านภาษาที่ไพเราะ จังหวะการเล่าที่นุ่มนวลความประทับใจในสิ่งที่ดีงามท่ได้ยินได้ฟังจะฝังลึกในดวงจิตของเด็กไปจนโต นอกจากการเล่านิทาน ครูจะจัดแสดงละครหุ่นเป็นครั้งคราว บางครั้งเด็กก็ร่วมเล่านิทานหรือแสดงละครหุ่นกับครู
    2. สำหรับภาษาเขียนยังไม่เน้นในวัยนี้ เนื่องจากครูมุ่งพัฒนาให้เด็กใช้จินตนาการภาพในใจให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ครูก็เปิดโอกาสให้เด็กได้วาดภาพและ/หรือขีดเขียนอย่างอิสระเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดให้ปรากฎเป็นสัญลักษณ์ 2 มิติ ผลงานของเด็กมีทั้งที่เป็นภาพอย่างเดียวและภาพกับข้อความ เช่นชื่อของเด็กเด็กเรียนรู้ภาษาเขียนจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะจากการเลียนแบบพฤติกรรมการอ่านเขียนในชีวิตจริงของผู้ปกครองและครู
    3. คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยคือ ประสบการณ์ที่ได้เห็นว่าทุกหนทุกแห่งในจักรวาล ในมนุษย์ ในธรรมชาติ มีคณิตศาสตร์อยู่ คณิตศาสตร์สัมพันธ์และเชื่อมโยงกับทุกสิ่งและมิได้มีเนื้อหาเฉพาะส่วนที่เป็นแนวคิดแต่มีส่วนที่เป็นความรู้สึกควบคู่กันไปด้วย ของเล่นที่เป็นวัสดุธรรมชาติ เช่น แท่งไม้ ก้อนหิน กรวดผ้า เชือกที่ครูคัดเลือกและจัดทำเป็นของเล่นให้แก่เด็ก นอกจากแสดงให้เห็นความงดงามและน่ามหัศจรรย์ของธรรมชาติแล้ว ยังให้แนวคิดพื้นฐานทางเรขาคณิตเกี่ยวกับลักษณะต่างๆของวัตถุและรูปเรขาคณิตในสิ่งรอบตัวเมื่อเด็กจัดเก็บของเล่นเหล่านั้น เขาจะได้ฝึกทักษะการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมประจำวันตามหลักการทำซ้ำ ตามจังหวะเวลาที่สม่ำเสริมและการสังเกตและน้อมรับธรรมชาติจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์จากการสังเกต และทำนายความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติรอบตัวทุกๆวันตลอดเวลา 
    4. นอกจากนี้เด็กจะได้เรียนรู้แนวคิดด้านเวลา และทักษะการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ทั้งในตัวและในธรรมชาติ การทำสวนเก็บเกี่ยว ทำและเสิร์ฟอาหารจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะการวัดและนับ รวมทั้งแนวคิดพื้นฐานด้านการวัดและด้านจำนวน เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะด้านจัดกระทำข้อมูลสื่อความหมายข้อมูล และลงความเห็นข้อมูลจากการเล่าเหตุการณ์ตามลำดับและการอภิปรายความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติทั้งที่เกิดขึ้นเองและที่เขามีส่วนทำให้เกิดการเก็บเกี่ยว การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตจากแปลงพืชผักกันเองภายในโรงเรียนและชุมชนช่วยให้เด็กได้เรียนรู้แนวคิดพื้นฐานด้านเวลาและเงิน การที่เด็กจะต้องประดิษฐ์และออกแบบสิ่งของทุกครั้งที่เขาเล่น
    5. ศิลป การระบายสี การปั้นและการวาดสีมีความสำพันธ์กับความรู้สึก ดังนั้นสีจึงเป็นสื่อสำหรับประสบการณ์ของดวงจิต การมองสี คือ การมองเข้าไปในดวงจิต ดังนั้นครูจะให้เด็กใช้สีน้ำและสีขี้ผึ้งในการระบายสี และใช้ขี้ผึ้งสีในการปั้น ศิลปะในวัยนี้เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์เกี่ยวกับสี เช่นเมื่อสีเหลืองติดอยู่กับสีฟ้าจะรู้สึกอย่างไร เมื่อสีเขียวถูกล้อมด้วยสีแดง สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมต่างกันเมื่อสีแดงถูกล้อมด้วยสีเขียว เมื่อสีต่างๆกลมกลืนกัน ความงดงามจะเกิดขึ้น เช่น เมื่อสีแดงและสีเหลืองเข้าไป สีฟ้า และสีม่วงจะพลันลดลง เด็กปฐมวัยสามารถรู้สึกถึงคุณสมบัติของสีแท้ๆได้โดยไม่ต้องโยงสีกับวัตถุที่มันอยู่ การใช้สีเป็นการจงใจให้เกิดจินตนาการและการพัฒนาการมองให้เข้าไปถึงความรู้สึก ครูจะส่งเสริมให้เด็กระบายสี ปั้นขี้ผึ้งและมีความสุขกับสีโดยไม่จำเป็นต้องวาดหรือปั้นเลียนของจริง
    6. ดนตรี  การสอนดนตรีในโรงเรียนอนุบาลวอลดอร์ฟ มิได้เน้นที่ความรู้ความสามารถทางดนตรีเป็นหลัก แต่เน้นที่การใช้ดนตรีเพื่อพัฒนาการและจิตของเด็กให้สมดุลกลมกลืน เสียงมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกและเป็นประสบการณ์ของดวงจิต เพราะการฟังเสียง คือการฟังดวงจิต เพลงที่เหมาะสำหรับเด็กอนุบาลเป็นเพลงทำนองเพนทาโทนิค ซึ่งเป็นเสียงที่นุ่มนวลฟังแล้วเบาสบาย สื่ออารมณ์ความรู้สึกของเด็กได้ดี เด็กสามารถร้องได้ง่ายและรู้สึกสงบ เพลงพื้นบ้านในแทบทุกวัฒนธรรมเป็นทำนอง เพนทาโทนิค ซึ่งตามทฤษฎีของรูดอร์ฟ สไตเนอร์ถือว่าเป็นเสียงที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ทำให้มนุษย์รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจักรวาลและจิตวิญาณระดับสูงของตน ดังนั้นเพลงที่ครูใช้ในกิจกรรมประจำวันตลอดทั้งวันมักเป็นเพลงเพนทาโทนิค อย่างไรก็ตามครูก็ใช้เพลงอื่นๆด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางดนตรีกับกิจกรรมที่บ้าน และโลกภายนอก
    7. เพลงที่ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการร้อง โดยครูร้องด้วยเทคนิคของศรีษะ(head tone) ซึ่ช่วยทำให้เด็กสงบ เครื่องดนตรี ที่ครูใช้ได้แก่ pentatonic harp,pentatonic recorder เครื่องดนตรีที่เด็กใช้มักเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถเลียนเสียงธรรมชาติรอบตัวได้ เช่น finger cymbal สำหรับเสียงนกหัวขวาน glockenspiel สำหรับเสียงนกไนติงเกล couckoo's สำหรับเสียงนก cuckoo
    8. การเคลื่อนไหว :ยูริธมี  ยูริธมีเป็นศิลปะการเคลื่อนไหวที่รูดอล์ฟ สไตเนอร์ได้พัฒนาขึ้นเป็นศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่แสดงให้เห็นกฎเกณฑ์และโครงสร้างภายในของภาษาพูดและดนตรี ยูริธมีจึงมีอีกชื่อว่าเสียงพูดหรือดนตรีที่มองเห็นได้ การฝึกยูริธมีช่วยจัดระเบียบและความกลมกลืนทั้งกายและจิตระดับต่างๆ ยูริธมีสำหรับเด็กปฐมวัยมักเป็นคำกลอนที่ผูกเป็นนิทานหรือเรื่องเล่าสั้นๆที่ให้เด็กทำท่าประกอบ ท่าทางที่ออกแบบมานั้นจะมีความสมดุลเปรียบเหมือนกับมีท่าที่เป็นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก การเรียนยูริธมีจะทำสัปดาห์ละ 1 ครั้งโดยมีครูพิเศษที่ผ่านการฝึกหัดมาโดยเฉพาะเป็นผู้สอน
    9. งานปฎิบัติหัตถกรรมและงานทำสวน งานปฎิบัติทำให้หลักสูตรวอลดอร์ฟมีความสมดุลระหว่างวิชาที่ใช้พลังสมองและวิชาที่ต้องใช้มือ แขนและขา ตามทฤษฎีพัฒนาการของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ เด็กแรกเกิดถึง 7ปี จะพัฒนาระบบประสาทผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย มือ แขน และขา เด็กจะต้องมีประสบการณ์ที่ได้รับความรู้สึก 4ด้านแรกคือ ความรู้สึกจากการสัมผัส ความรู้สึกแห่งชีวิตความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวและความสมดุลของร่างกายมากพอเพื่อให้มีพื้นฐานที่ดีสำหรับพัฒนาการช่วงต่อๆไปที่อาศัยความรู้สึกที่เหลืออีกแปดด้านการที่บางคนต้องเคลื่อนไหว เช่น เดินไปมาขณะกำลังคิดแสดงว่าร่างกายช่วยการทำงานของสมองเมื่อเด็กใช้มือสร้างหรือประดิษฐ์ของเล่นเขาจะได้ฝึกสมาธิ ความวิริยะอุตสาหะ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความรู้สึกชื่นชมในสิ่งที่ตนสร้างขึ้นเด็กจะตระหนักถึงความยากลำบากในการคิด และการทำงานซึ่งจะช่วยให้เห็นคุณค่าทุกคนและทุกสิ่งการทำสวนช่วยให้เด็กได้สัมพันธ์กับพื้นโลกและเรียนรู้คุณค่าและความยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน
  5. กิจกรรมประจำวัน ของแต่ละโรงเรียนย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพ และวัฒนธรรมของท้องถิ่นรวมทั้งการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีของครู อย่างไรก็ตามโดยภาพรวม กิจกรรมในแต่ละวันของเด็กจะเรียบง่ายโรงเรียนอนุบาลเปรียบเหมือนครอบครัวใหญ่ ครูเปรียบเหมือนแม่ที่ดูแลบ้านอย่างมีความสุข อุปกรณ์การสอนที่เตรียมไว้ให้เด็กเล่นจะเป็นของเรียบง่าย เช่น แท่งไม้ ก้อนหิน กรวด เปลือกหอย เมล็ดพืช ด้าย และไหมสีต่างๆพร้อมไม้สำหรับถัก  กรอบไม้สำหรับทอผ้า สะดึงสำหรับปักผ้า ตระกร้าเย็บผ้า ผ้าเส้นใยธรรมชาติสีและขนาดต่างๆ โต๊ะและอุปกรณ์ทำงานไม้ อุปกรณ์ทำสวน ครูจะเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ โดยการวางแผนอย่างรอบคอบแต่การจัดวางอุปกรณ์เหล่านี้จะดูเป็นธรรมชาติ งดงามและกลมกลืนความเป็นอยู่ในชีวิตจริงครูจะกำหนดกิจกรรมแต่ละช่วงโดยคำนึงถึงหลักการ 3 ประการคือการทำซ้ำ จังหวะเวลาที่สม่ำเสมอ ความเคารพและน้อมรับคุณค่าของทุกสิ่ง ดังนั้นกิจกรรมประจำวันของโรงเรียนอนุบาลแต่ละแห่งก็จะยืดหยุ่นไปตามสภาพชีวิตในชุมชนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นแบบแผนตายตัว

 บรรณานุกรม
Erziehungskunst, F. and Steiners,R. การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ แปลโดย จันทร์เพ็ญ พันธุโอสถ.
เอกสารประกอบการจัดนิทรรศการเนื่องในวาระการประชุมนานาติ ว่าด้วยการศึกษาสมัยที่ 44 ของยูเนสโก ณ เจนีวา กรุงเทพฯ :ปัญโญทัย, 2538.
Carlgren,F.Education Towards Freedom. England : Lathom Press,n.d.
Hechmann,H.A Gardenfor Children: A Danish Approach To Waldorf - Based Child Care. New Hamshire, U.S.A: A Center for Anthroposopyhy and the Waldorf EarlyChildhood Association of North America ,n.d
Wilkinson,R. Commonsense schooling.4 th ed. England:The Robinswood Press, 1990
Staley ,B. Waldorf Schools : Kindergarten and Early Grades .Volume 1. New York : Murcyry Press, 1993
Staley ,B. The Cultivation of thinking.London :Prtoffset Limited,1981
Staley ,B. The Curriculum of Rodolf Steiner School. 8 th ed.California, U.S.A.: rudolf Steiner College Press,1994
Staley ,B. The Lnner Life.London :PRT offset Limited,1981
Steiner, R. Theosophy. Creeger , C.E. (translator).New York : Anthroposophy Press, 1994

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น