เรียนรู้จากอนาคตรึ เป็นไปได้อย่างไร คนเราเรียนรู้จากสิ่งที่ปรากฏขึ้นแล้วทั้งนั้น อนาคตยังมาไม่ถึงแล้วจะเอาอะไรมาให้คนรู้ได้เล่า ตอนแรกผู้เขียนก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน แต่ อ็อตโต ชาเมอร์ ยืนยันว่า อนาคต สามารถเรียนรู้ได้ ด้วยกระบวนการที่เขาเสนอขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Theory U
ในขณะที่ชาวโลก กำลังโหยหาความรู้เพื่อเป็นทางออกของวิกฤติปัญหาที่กำลังรุมเร้า คนที่คิดอะไรใหม่ๆ และสามารถอธิบายอย่างเป็นระบบแสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรม จึงกลายเป็นจุดสนใจใฝ่รู้ของผู้คน อ็อตโต ชาเมอร์ -OttoScharmer นักคิดชาวเยอรมันที่ร่ำเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการ แต่ภายหลังหันมาทุ่มเทศึกษาเกี่ยวกับการสร้างองคาพยพแห่งการเรียนรู้ (organization learning) และไม่ยอมหันหลังกลับ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่ MIT และเป็นผู้ก่อตั้ง Emerging Leaders Innovate Across Sectors –ELIAS ซึ่งเป็นสถาบันให้คำปรึกษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับการสร้างผู้นำในองค์กรภาครัฐและเอกชน
ชาเมอร์เสนอว่า วิธีการเรียนรู้ของคนสามารถเกิดขึ้นได้สองลักษณะ ลักษณะที่หนึ่งคือ เรียนรู้จากผลของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว หรือมีอยู่ก่อนแล้วเช่น จากความคิดของคนที่เป็นที่ยอมรับแล้วก็เอาไปเผยแพร่ต่อ วิธีการนี้เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ชาวโลกใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบัน คือสร้างประสบการณ์ บทเรียนหรือความรู้ขึ้นมาก่อน หรือต้องรอให้มีคนสร้างความรู้ ทฤษฎีจากการปฏิบัติ ทดลองเสียก่อน แล้วค่อยเอามาแล้วค่อยพิจารณาเป็นบทเรียนถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังเอาไปบริโภคต่อ
ส่วนวิธีการเรียนรู้ในอีกลักษณะหนึ่งที่ชาเมอร์เสนอขึ้นมา คือ การเรียนรู้จากอนาคต (learning from the future)ซึ่งแนวคิดนี้ ได้เปิดพื้นที่การคิดและการเรียนรู้แบบใหม่ที่ท้าทายวิธีการเรียนรู้แบบเดิมเป็นอย่างมาก ชาเมอร์เขียนขึ้นจากชีวิตจริงและจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับนักคิด นักปฏิบัติชั้นนำของโลกรวม 150 คน
วิธีการทำงานของชาเมอร์ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ เกี่ยวกับการนำประสบการณ์ และการคิดอันลุ่มลึกของตนเองมาทำให้เกิดคุณภาพใหม่ (transcended knowledge)และเรียบเรียงนำเสนออย่างเป็นรูปธรรม เป็นเหตุเป็นผล จนกลายเป็นทฤษฎีที่มีคนนำไปอ้างอิงกันทั่วโลก ทั้งๆที่สิ่งที่ชาเมอร์ นำมาเขียนนั้นก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ทุกคน
ชาเมอร์เริ่มต้นที่การมองเห็นคุณค่าที่อยู่ภายในความเป็นมนุษย์ การเกิดเป็นคนโดยไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคนต้องดำรงอัตตาตนเองด้วยการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นและสถานการณ์รอบข้าง ข่ายใยชีวิตของความเป็นคนจึงมีความสลับซับซ้อน หาจุดเริ่มต้นและที่สิ้นสุดไม่ได้ แต่การที่คนมุ่งใช้ประสบการณ์และความรู้จากอดีต เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นภายใต้สมการ action = reaction นั้น ทำให้ยากที่จะสลัดตัวเองให้หลุดพ้นจากข่ายใยที่พันธนาการอยู่อย่างเหนียวแน่น ชาเมอร์เรียกข่ายใยชีวิตภายใต้สมการปฏิสัมพันธ์ว่าเป็น ‘social field’ หรือ อาจเรียกว่า “สนามวัฏฏะ” เพราะมันพันธนาการความเป็นมนุษย์ไว้อย่างเหนียวแน่น และในขณะเดียวกันก็เป็น ‘blind spot’ หรือ “ภาวะแห่งความไม่รู้” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสารพัด คนโดยทั่วไปไม่มีโอกาสรู้ว่า สิ่งที่นำมาคิด หรืออุปนิสัยที่นำมาใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนั้น มาจากไหน แต่คนก็ใช้มันไปตามความเคยชิน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านั้นไป (taken-for-granted habit)
สมการปฏิสัมพันธ์แบบ action=reaction เป็นสมการเส้นตรงที่ปิดกั้นการเติบโตของความรู้จากภายใน (inner knowing) ซึ่งเป็นบ่อเกิดของจิตสำนึก และปัญญาที่ทำให้เห็นความจริงใหม่ๆ ทางเลือกใหม่ๆ เพราะสมการ action = reaction เป็นการตอบสนองผ่านความรู้ ความเคยชินของประสบการณ์เก่า ความรู้ก็เป็นความรู้นอกกายที่หยิบฉวย จดจำ ลอกเลียนกันไปมา
ชาเมอร์ เรียกความรู้จากประสบการณ์เดิมว่า เป็นความรู้แบบ ‘download’ ความเป็นมนุษย์ภายใต้ข่ายใยชีวิตได้เก็บสะสมความรู้ประเภทนี้ไว้มากมายและ ถูกนำออกมาใช้โดยไม่ต้องคิด (taken-for-granted downloading)การใช้ความรู้download แบบอัตโนมัติได้ปิดกั้น กดทับความรู้สิ่งที่ชาเมอร์เรียกว่า sensing หรือ “การระลึกรู้” ซึ่งเป็นสำนึกจากภายใน ( inner knowing) มิให้เจริญงอกงาม
ผลจากการที่คนนำเอาความรู้สึกตัวออกมาใช้ไม่ได้ ทำให้โลกาภิวัฒน์เต็มไปด้วยการครอบงำทางความรู้ ปัญญา การต่อสู้ ขัดขืน เพราะคนต่างหยิบฉวยความรู้แบบ downloadกันไปมาเพื่อทำปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยไม่นำความรู้สึกจากภายในออกมาใช้ ความรู้แบบ downloadทำให้โลกเต็มไปด้วยคนที่มีความสามารถจำ เลียนแบบและสร้างปัญหาให้กับโลก
กระบวนการเรียนรู้จากอนาคต ชาเมอร์ได้เสนอสมการขึ้นมาใหม่ โดยยืดเส้นตรงของสมการ action = reaction ให้ยาวออกไปอีก เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับห้อยแขวน (suspension) ความรู้แบบ download ไว้ที่เส้นสมการใหม่ ซึ่งเอนตัวกลายเป็นรูปตัว U และมีชื่อเรียกสมการใหม่ว่า U Theory การห้อยแขวนความรู้แบบ download ไว้บนเส้นสมการแบบตัว U เท่ากับเป็นการช่วยชะลอ หรือ ระงับปฏิกิริยาตอบโต้ทันทีทันใดแบบ action = reaction นั่นเอง
ถ้าหากไล่ตามความเคลื่อนไหวของปฏิกิริยาแบบ action = reactionได้ทัน จะเห็นความเป็นจริงที่ซ่อนเร้นได้ไม่ยาก เหมือนแผ่นฟิล์มภาพยนตร์เซลลูลอยด์ที่แสดงภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอในอัตรา 16 ภาพต่อวินาที จนกลายเป็นอาการต่อเนื่องจนคนดูคิดว่าเป็นของจริง จนคนดูเกิดอารมณ์ร่วมไปกับบทภาพยนตร์ แต่ถ้าหากดูทีละเฟรม ก็จะมองภาพถูกแยกเป็นชิ้นๆและไม่ก่อให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึกใดๆกับมัน
U Theory ของ ออตโต ชาเมอร์ จึงเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการระลึกรู้ หรือทำให้เกิดสติ เพราะการดึงเส้นสมการปฏิสัมพันธ์แบบ action = reaction ให้ยาวออกไปนั้น ทำให้คนมีเวลาคิด พิจารณา ใคร่ครวญนานขึ้น และอาจป้องกันมิให้นำความรู้แบบ download มาใช้ ยิ่งเส้นสมการใหม่ยาวมากเท่าไร ก็มีพื้นที่สำหรับการคิดพิจารณา หรือห้อยแขวนความรู้แบบ download มากขึ้นเท่านั้น เมื่อไม่รีบร้อนรนตอบโต้ หรือรีบส่งปฏิกิริยาออกไป คนก็มีเวลาคิด พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ มีสติมากขึ้น สามารถมองหาทางเลือกอื่นๆมากขึ้น
ภาพสมการที่ 1. สมการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (conventional)
Holding the Space ___________________ Performing
(ฟัง คิด ตัดสินใจ) (ตอบโต้ ปฏิบัติการ)
ภาพสมการที่ 2. สมการแบบ Theory U
Holding the Space(ฟัง รับรู้) Performing(แสดงออก)
Observing(เฝ้าสังเกต) Prototyping(ออกแบบ)
Sensing(รับรู้อาการ) Crystallizing(เลือกสรร)
Presencing(รู้ตัวในตัว)
หมายเหตุ: ดัดแปลงจาก C.Otto Scharmer (2007)
จะเห็นได้ว่า สมการแบบ Theory U ทำให้คนมีเวลาไตร่ตรองมากขึ้น พอได้ยินหรือรับรู้อะไรบางอย่าง แทนที่จะตอบสนองเปรี้ยงปร้างออกไปทันที ก็ระงับห้อยแขวนปฏิกิริยาไว้ หลังจากนั้นก็สังเกต รับรู้อาการด้วยสติอันตื่นรู้ แล้วเลือกสรร ออกแบบสิ่งที่จะสำแดงออกไป ด้วยสติปัญญา หัวใจที่เปิดกว้าง และมือที่บริสุทธิ์สะอาด แล้วค่อยแสดงออกไป
ชาเมอร์เสนอว่า คนจะใช้สมการ Theory U ได้ดี ก็ต่อเมื่อคนสามารถยกระดับของการฟังสู่ขั้นสูงสุด ซึ่งชาเมอร์แบ่งระดับการฟังออกเป็น 4 ระดับ คือ
ระดับที่หนึ่ง การรับฟังแบบน้ำเต็มแก้ว (downloading listening) เป็นพวกลากเข้าความ จะเลือกเปิดรับฟังเฉพาะข้อมูลที่สามารถนำมาช่วยยืนยันสิ่งที่เชื่ออยู่เดิม เป็นการฟังแบบคนที่เรียนรู้อะไรไม่เป็น คนที่ฟังแบบน้ำเต็มแก้ว มักแสดงอาการตอบโต้ออกมาในทำนอง “รู้แล้วๆ” ซึ่งเป็นการเอาความจำที่ download ไว้ก่อนมาตัดสินสิ่งที่ได้ยินแบบทันทีทันใด
ระดับที่สอง การรับฟังแบบเอะใจ (factual listening) เป็นการเปิดรับฟังเพราะเหตุว่าสิ่งที่ได้ยินนั้นไม่ตรงกับข้อมูลที่ตนเองมีอยู่ ฟังเฉพาะจุด โดยไม่ฟังเสียงกระตุ้นเตือนของจิตสำนึกภายในให้ฟังทั้งหมด สนใจรับฟังเฉพาะประเด็นที่แตกต่างจากที่รู้ อย่างไรก็ตาม การฟังแบบเอะใจ เป็นพื้นฐานของกระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสนใจเปิดรับฟังข้อมูล ตั้งคำถาม และให้ความสนใจเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
ระดับที่สาม การฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจ (empathic listening) เป็นขั้นการรับฟังที่สูงขึ้นจากระดับปกติ การรับฟังขั้นนี้เกิดจากผู้ฟังได้มีโอกาสเข้าร่วมวงสนทนา (dialogue) และรับรู้ความจริงในแง่มุมอื่นๆที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน รวมทั้งความสำเร็จในการเปิดใจสามารถรับเอาความรู้สึกของคนอื่นมาเป็นความรู้สึกของตัวเองได้ เมื่อคนสามารถเข้าถึงความรู้สึกนี้ได้ พรมแดนความแตกต่างระหว่างตัวเองกับคนอื่นจะเริ่มจางหายไปพร้อมกับวาระและเป้าหมายส่วยตัว และพร้อมกันนั้นก็สามารถระลึกรู้ (sensing)ความเชื่อมโยงด้วยตนเอง
ระดับที่สี่ การฟังด้วยปัญญาจากภายใน (generativelistening)เป็นการฟังขั้นสูงสุดด้วยปัญญาที่เจริญงอกงามอยู่ภายใน การฟังเสียงตนเอง ฟังเสียงความเงียบ และเสียงคนอื่นช่วยสลายพรมแดนความแตกต่างลงอย่างสิ้นเชิง และสามารถรับรู้ถึงการเชื่อมต่อระหว่างสนามพลังแห่งอนาคตที่มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ ระดับจิตสำนึกที่ถูกยกขึ้นนั้น ถือเป็นผลจากการฟังเป็นสิ่งที่สามารถรู้ได้เฉพาะตน คนที่สามารถเข้าถึงการฟังในระดับนี้ได้ จะต้องเริ่มต้นด้วยการทิ้งกรอบอ้างอิงเดิม มีความกล้าหาญทางจิตใจ เปิดหัวใจ ข้ามพรมแดนแห่งเหตุผลและกำหนดรู้ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ชาเมอร์บอกว่า สภาวะนี่แหละคือสนามพลังแห่งอนาคตที่สามารถเอามาสร้างเป็นประสบการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยมีบทพิสูจน์อยู่ในหลายวงการ โดยเฉพาะในวงการกีฬาอาชีพระดับโลก ซึ่งนอกจากจะต้องแข่งขันกันด้วยทักษะและพละกำลังที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว นักกีฬายังต้องรู้วิธีกำหนดจิตของตนเองในสภาวะกดดันอย่างหนักอีกด้วย
เท่าที่รู้ นักกอล์ฟอาชีพบางคน เช่น เรทีฟ คูเซ่น โปรกอล์ฟโนเนมชาวอาฟริกาใต้ ลงทุนจ้าง mental coach จนทำให้สามารถผงาดขึ้นมาคว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น ซึ่งเป็นรายการแข่งขันที่หินที่สุดรายการหนึ่งของโลก นอกจากทักษะและพละกำลังที่นักกีฬาต้องมีแล้ว กีฬากอล์ฟ เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความสามารถในการเรียนรู้อนาคตมากำหนดผลของเกมส์อีกด้วย เพราะกีฬากอล์ฟ download เอาอดีตมาคิด หรือมากำหนดวิธีการเล่นไม่ได้ เพราะการเล่นช็อตใหม่ คือการแก้โจทย์ใหม่ซึ่งต้องจินตนาการอนาคตขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
แต่ชาเมอร์นำกรณีตัวอย่างสภาพจิตใจของนักบาสเก็ตบอล เอ็น.บี.เอ คนหนึ่งคือ บิล รัสเซล มาเล่า รัสเซลบอกว่า บางช่วงเวลาในขณะที่สภาพร่างกาย จิตใจผนวกเข้ากันอย่างมีสมาธิ มีบางสิ่งบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ ความเคลื่อนไหวทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติ เขาสามารถสร้างผลงานได้เหนือคำบรรยาย วิ่งรับส่งลูก และชู๊ตได้โดยไม่มีความผิดพลาด และไม่รู้สึกเจ็บปวดจากการปะทะ ความเป็นไปทุกอย่างเหมือนสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า การที่นักกอล์ฟ นักบาสเก็ตบอล สามารถเข้าถึงสนามพลังแห่งอนาคตนี้ได้ เพราะเขาสามารถข้ามพ้น (transcend) ตัวเองจากกระบวนการ download ความรู้สึกเดิมๆ มีความฮึกเหิมและมุ่งมั่น เพื่อก้าวเข้าสู่สภาวะใหม่ที่กำหนดชัยชนะ
การเป็นผู้นำองค์กรสมัยใหม่ ก็ต้องรู้จักเรียนรู้จากอนาคต ด้วยการเริ่มต้นพัฒนาระดับการฟังจากระดับที่หนึ่งและสอง เพื่อก้าวข้ามสภาวะเดิมสู่ระดับที่สามและที่สี่ให้ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น