พวกเราเดินทางมาถึงโรงพยาบาลวานรนิวาส ประมาณเจ็ดโมงกว่าๆ ถือโอกาสแอบชมการจัดบริการของโรงพยาบาลไปด้วยในตัว ที่ OPD คนไข้กำลังเข้าแถวรอที่จุดรับบัตรคิว ซีงจุดนี้จะคัดกรองเพื่อแยกแผนกการเข้ารับบริการก่อนจะส่งต่อไปที่จุดทำบัตร มองออกไปบริเวณด้านนอกอาคารเมื่อคืนฝนคงตกหนักมาก เพราะถนนบริเวณที่จอดรถของโรงพยาบาลยังมีน้ำเจิ่งนองหลายจุด
อำเภอวานรนิวาสมีประชากรประมาณ หนึ่งแสนสองหมื่น ซึ่งเป็นจำนวนประชากรที่ค่อนข้างมากสำหรับโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง เมื่อเทียบเคียงกับ รพร.ด่านซ้าย การจัดพื้นที่บริการซึ่งเป็นแปลนอาคารแบบเดียวกับโรงพยาบาลอุบลรัตน์ แต่มีการต่อเติมตัวอาคารทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น มีห้องเล็กห้องน้อยของฝ่ายงานต่างๆ รวมถึงมีอาคารที่สร้างขึ้นเพิ่มเติม แต่เนื่องจากยังไม่ได้การศึกษาดูงานอย่างเป็นทางการ ผมจึงได้แต่สำรวจคร่าวๆตามเส้นทางผ่านที่จะไปห้องประชุม ก่อนจะปักหลักรอทีมงานที่กำลังเดินทางมา
08.30 น. เริ่มลงทะเบียน
การประชุมเครือข่ายในแต่ละครั้งที่ผ่าน ใช้การแชร์งบประมาณของแต่ละโรงพยาบาลร่วมกัน วัตถุประสงค์คือไม่อยากให้โรงพยาบาลที่เป็นเจ้าภาพต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป แต่ด้วยความกรุณาของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลวานรนิวาส ที่อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการจัดอบรมครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารว่าง อาหารกลางวัน และห้องประชุม ตลอดจนค่าวิทยากร ซึ่งผมต้องขอขอบคุณและปฏิเสธที่จะรับแต่ได้มอบให้ทางโรงพยาบาลใช้ในการบริหารจัดการตามความเหมาะสม
ทุกครั้งที่มีการประชุมเครือข่าย กำหนดการที่ตั้งใจไว้อย่างหนึ่งคือ ต้องมีการพบทางผู้บริหาร หรือทีมกรรมการบริหาร ของโรงพยาบาลที่เป็นเจ้าภาพ เพื่อจะได้ถือโอกาสชี้แจงวัตถุประสงค์ความเป็นมาของการจัดประชุม แต่เนื่องจากวันนี้ทางผู้อำนวยการติดภาระกิจเข้าร่วม ประชุมหลายงาน ทำให้ต้องเลื่อนเวลาไปในช่วงบ่าย
หลังจากที่ทีมงาน พร้อมหน้าพร้อมตากันในห้องประชุม ผมจึงถือโอกาสทำหน้าที่แบบทูอินวัน คือ เป็นทั้งพิธีกรและวิทยากร เชิญชวนให้สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมได้แนะนำตัว ทำความรู้จักกันก่อนเพื่อลดความประหม่าสำหรับหลายคนที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกัน เพราะครั้งนี้มีสมาชิกหน้าใหม่ๆ หลายท่านครับ ไม่ว่าจะเป็นทีมจาก รพ.แวงใหญ่ ที่พาทีมงานมาร่วมประชุมด้วยกันอีก 5 คน ทีม รพ.เลย นำโดยเอ๋น้อย จอย และปาล์ม ทีมจาก รพ.นาด้วง ซึ่งพี่ต่าย ตั้งใจมากอุตส่าห์ขับรถมาคนเดียว และยังมีทีมของ รพ.วานรนิวาสที่อยู่ในห้องประชุม
ผมเริ่มต้นเปิดประชุมด้วยการเล่าให้สมาชิกฟัง ถึงความเป็นมาของเครือข่ายพัฒนาระบบสารสนเทศโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเริ่มต้นประชุมกันครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ในปี 2552 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ก่อนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นเจ้าภาพ โดยครั้งที่ 3 จัดที่ รพร.บ้านดุงในปี 2553 ครั้งที่ 4 จัดที่ รพร.สว่างแดนดิน และครั้งที่ 5 ต้นปีงบประมาณ 2554 จัดที่ รพ.หนองวัวซอ ถ้าจะนับตามจำนวนครั้งการประชุมที่ รพ.วานรนิวาส นับเป็นครั้งที่ 6 นอกจากนี้ผมยังได้เน้นความสำคัญของการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ในการประชุมครั้งนี้มีทีม Adminของโรงพยาบาลในจังหวัดสกลนครที่เคยเข้าร่วมประชุมกันมาบ้างแล้วและบางคนเคยมาอบรมที่ รพร.ด่านซ้าย อย่างทีม รพ.อากาศอำนวย รพ.พระอาจารย์ฝั้นฯ และ รพ.เจริญศิลป์ แต่อาจจะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมประชุมกันอย่างต่อเนื่องทำให้ ทางเครือข่ายไม่รู้รายละเอียดความเคลื่อนไหวของทีมงานมากนัก หลังจากแนะนำตัวตัวกันเรียบร้อย ทีมผู้ประสานงานของโรงพยาบาลวานรนิวาส ได้แนะนำข้อมูลของโรงพยาบาลให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ก่อนที่จะแยกย้าย แบ่งกลุ่มออกไปศึกษาดูงานตามหน่วยงานต่างๆ และจะกลับมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีกครั้งในช่วงบ่าย
การศึกษาดูงานระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลที่เป็นเจ้าภาพ เป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญซึ่งผมอยากให้ Admin ของทุกโรงพยาบาล ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานกัน เพราะแต่ละแห่งก็จะมีจุดเด่น จุดด้อยที่แตกต่างกันไป บางแห่งอาจจประสบปัญหาคล้ายกัน บางแห่งอาจจะมีวิธีการแก้ไขที่ทำได้ดีที่สามารถแชร์ประสบการณ์ให้ที่อื่นนำไปพิจารณาแก้ไขปัญหาดู
สำหรับการแบ่งกลุ่มดูงาน พวกเราแบ่งกันตามความสนใจครับ และพยายามกระจายให้ได้ดูงานได้ทุกหน่วยงาน สำหรับผมชอบไปเริ่มสตาร์ทที่จุดรับบัตรคิว ห้องบัตร และเดินตามคนไข้ไปที่ OPD ในขณะที่กลุ่ม Admin หนุ่มๆที่ชื่นชอบเทคโนโลยี มุ่งหน้าไปที่เรื่องของ Hardware และ Network เป็นหลัก
หลังจากที่เสร็จสิ้นการดูงานในช่วงเช้า พวกเรากลับมาพร้อมกันที่ห้องประชุมอีกครั้ง ในช่วงบ่ายจะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ได้จากการศึกษาดูงาน รพ.วานรนิวาสมีจุดเด่นที่น่าสนใจ ดังนี้ครับ
จุดเด่นเรื่องแรก แม้ว่า รพ.วานรนิวาสจะใช้งาน HOSxP ได้เพียงแค่ปีกว่าๆ แต่ที่นี่ออกแบบระบบโดยไม่ต้องค้น OPD Card ครับ ทุกจุดบริการดูประวัติและบันทึกข้อมูลผ่าน HOSxP พิมพ์ OPD Card/ใบสั่งยาที่ห้องแพทย์ ซึ่งทำให้ Flowการให้บริการค่อนข้างเร็วครับ เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าทีมสามารถยอมรับและทำได้ดีค่อนข้างดีครับ ข้อมูลถูกบันทึกลงในระบบได้ค่อนข้างสมบูรณ์
จุดเด่นเรื่องที่สอง ปกติหน่วยงานที่เป็นปัญหามากที่สุดของเกือบทุกโรงพยาบาล คือ งานห้องคลอด เพราะการลงบันทึกข้อมูลของห้องคลอดค่อนข้างจะหนักหนาสาหัสกว่าจุดอื่นๆ ซึ่งลงข้อมูลตั้งแต่โมดูลของ OPD โมดูลห้องคลอด และผู้ป่วยใน ทำให้ห้องคลอดมักจะลงข้อมูลไม่ค่อยทัน หรือลงไม่สมบูรณ์ แต่ที่ รพ.วานรนิวาส ห้องคลอดทำได้ดีครับและเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญในการลงบันทึกข้อมูลอย่างมาก
จุดเด่นเรื่องที่สาม บางหน่วยงานของ รพ.วานรนิวาสแม้ว่าจะยังมีปัญหาที่ไม่สามารถลงบันทึกมูลได้ทันที เช่น งานทันตกรรมซึ่งสถานที่ยังไม่เอื้ออำนวยจึงยังจำเป็นต้องใช้ OPD CARD อยู่ แต่ก็ลงข้อมูลอย่างครบถ้วน งานเอกเรย์ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่มั่นใจในระบบมีการทำข้อมูลแบบคู่ขนาน คือ เขียนลงในสมุดทะเบียนและคีย์ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ด้วย ฯลฯ
จุดเด่นเรื่องที่สี่ ในการประชุมสรุปช่วงบ่ายมีทีมงานของโรงพยาบาลวานรนิวาสเข้าร่วมประชุมด้วยครับโดยมีบุคลากรจากหลายหน่วยงาน แม้กระทั่งองค์กรแพทย์ก็เข้ามาร่วมฟังและสอบถามปัญหาต่างๆ ด้วย ซึ่งปกติไม่ค่อยมีครับ
สิ่งที่น่าชื่นชมเป็นเรื่องที่เราพูดถึงกันมาก แต่ผมก็ชวนสมาชิกทุกคนให้ช่วยกันคิดต่อ โดยให้ลองสวมหมวกสีดำกันดูบ้างว่า แล้วมีจุดไหนบ้างของ รพ.วานรนิวาสที่ยังทำได้ไม่ดี หรือควรปรับปรุงในสายตาคนนอกอย่างพวกเรา.. ซึ่งประเด็นการวิพากษ์แบบนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยสำหรับพวกเรานะครับ เพราะไปประชุมที่โรงพยาบาลเขาแล้วยังไปคุยเรื่องจุดด้อยอีกคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ แต่ผมคิดว่าแค่คำชมโรงพยาบาลวานรนิวาสคงไม่ได้ประโยชน์อะไร สำหรับโรงพยาบาลที่ผ่านระบบการพัฒนคุณภาพมาแล้ว คงจะคุ้นเคยกับคำว่า "โอกาสพัฒนา" อยู่แล้ว ผมจึงสรุปให้ทีมได้ลองคิดตามในประเด็นที่ผมสังเกตเห็น ในตอนหน้าเรามาติดตามกันต่อครับว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่เป็นโอกาสพัฒนาของโรงพยาบาล รพ.วานรนิวาส
โปรดติดตามตอนต่อไป
นับเป็นการสร้างเครือข่ายที่ผมเฝ้ามองอยู่ครับ...คุณภาพIM แบบเครือข่าย
ตอบลบ