วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทีมจังหวัดเลย

วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 คณะกรรมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทีมจังหวัดเลย ประชุมหารือแนวทางในการพัฒนาฯ ซึ่งหัวข้อการสนทนาวันนี้หลักๆ มีการนำเสนอเรื่อง OPPP/ข้อมูล 21 แฟ้ม และเรื่อง Data center ที่ทีมงานบางส่วนจะเดินทางไปร่วมประชุมในวันที่ 2-4 พ.ค. ที่กรุงเทพฯ

เนื่องจากคณะกรรมการชุดนี้ เพิ่งมีการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแร แนวทางต่างๆจึงยังไม่ชัดเจน ตัวคณะกรรมการเองก็ยังไม่รู้ว่าควรจะต้องทำอะไร และทำอย่างไรบ้าง (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนที่ถูกแต่งตั้งให้มาคณะกรรมการ) วันนี้จึงมีเรื่องนอกวาระที่ชวนพวกเราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันค่อนข้างเยอะ  ประเด็นคำถามที่สนใจอยู่ที่ว่าจะขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ งานสาธารณสุขของจังหวัดเลยกันอย่างไร เพราะทุกวันนี้ถึงแม้ว่าทีมจังหวัดเลยจะมีการปรับใช้ HOSxPและ HOSxP PCU ทั้งจังหวัดที่สามารถทำได้อย่างน่าทึ่งแล้ว แต่การนำประโยชน์จากข้อมูลมาใช้ หรือการพัฒนาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ ยังต้องมีการพัฒนากันอีกมาก ซึ่งหากไม่มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน ต่างคนต่างทำ แน่นอนว่าข้อดีคือมีความหลากหลาย และมีความเป็นอิสระ แต่ก็จะสะเปะสะปะไม่รู้ว่าอีกฝั่งของฝันอยู่ที่ตรงไหน เราจะทำไปเพื่ออะไร หรือบางคนก็อาจจะไม่อยากคิดอะไรทำตามนโยบายที่สั่งมาเพื่อให้ผ่านไปวันๆก็เหนื่อยพอแล้ว
ทีมจังหวัดเลยกำลังหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันครับ ว่าพื้นที่และกิจกรรมแบบไหน อะไรที่จะทำให้พวกเราเข้ามารวมตัวกันได้ เพราะแต่ละคนมีเครือข่ายพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนต่างเครือข่ายมากมาย แต่ในขณะที่ภายในหน่วยงานหรือในจังหวัดเลยเราเองกลับมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนพูดคุย หรือร่วมพัฒนาด้วยกันน้อยมาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะยังหาจุดร่วมความสนใจที่ลงตัวด้วยกันไม่ได้ หรือมีบางคนเคยบอกว่า พื้นที่การมีส่วนร่วมแบบระบบราชการไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัย

เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม
ด้วยข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ และระยะทางที่ค่อนข้างไกลในบางพื้นที่ การเดินทางมาพบปะพูดคุยประชุมกันบ่อยๆ คงไม่ใช่แนวทางที่ดีนัก โดยเฉพาะกับระบบราชการที่มักจะเอาเรื่องใหญ่มาประชุมให้ได้ข้อสรุปภายในไม่กี่ชั่วโมง  คณะทำงานจึงมีความเห็นว่าเราน่าจะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการ และให้มีความหลากหลาย ทั้ง Facebook, Google plus+, email  ,Twitter ,Webboard ,การจัดประชุม ฯลฯ เอาเป็นว่าแทบทุกช่องทางที่เรามีเพื่อทุกคนเข้าถึง มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันต้องมีความชัดเจนในเรื่องทิศทางการพัฒนาว่าเรา "ฝัน" ว่าอยากจะเห็นระบบข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุขของจังหวัดเลยเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่ง Social Network อาจไม่ใช่คำตอบที่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญและควรใช้เพื่อพวกเรารับรู้ข้อมูลได้พร้อมๆกัน  

ผมยังได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญอีกอย่าง คือ การยกร่างยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของจังหวัดเลย เพื่อนำเข้าพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป..



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น