วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มติบอร์ดให้ สปสช.เก็บ 30 บาท เริ่ม 1 สิงหานี้



คณะกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาเกณฑ์ร่วมจ่าย 30 บาท คาดเริ่ม ส.ค.นี้ ใช้หลักการสร้างศักดิ์ศรีให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกว่าจะร่วมจ่ายหรือไม่  ส่วนกลุ่มที่ได้รับยกเว้นมีอยู่แล้ว เป็นกลุ่มเดิม เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ  คนยากจน   คาดร่วมจ่าย 30 บาท จะทำให้รพ.มีเงินเพิ่มขึ้นปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งประชาชนจะได้รับบริการดีขึ้น ทั้งจากนโยบายฉุกเฉินมาตรฐานเดียว พร้อมเดินหน้านโยบายรับบริการได้ทั้งวัน   เปลี่ยนหน่วยบริการจากปีละ ครั้งเป็น ครั้ง เพื่อเพิ่มความสะดวก

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องทางเลือกเชิงนโยบายการร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาทต่อครั้งของการใช้บริการ
      นายวิทยา กล่าวว่า  การร่วมจ่าย 30 บาทในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เมื่อปี 2544 แต่ก็ได้มีการยกเว้นบางกลุ่มไว้ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ   คนยากจน (ใช้เกณฑ์กระทรวงมหาดไทย )  เป็นต้น แต่ต่อมาในปี 2549 ได้มีการยกเลิกการร่วมจ่ายทั้งหมด อย่างไรก็ตามการร่วมจ่ายค่าบริการยังคงมีประโยชน์เพื่อปรับพฤติกรรมของผู้รับบริการ และสามารถสร้างคุณค่าของการรับบริการได้ ซึ่งรัฐบาลนี้มีนโยบายในการร่วมจ่าย 30 บาท เพื่อเป็นมาตรการในการสร้างการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของของประชาชนในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เป็นมาตรการในการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักและร่วมมือในการดูแลตนอง รวมทั้งรับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเอง เป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพของหน่วยบริการในระบบ และเงินรายได้จากการร่วมจ่ายสามารถนำมาใช้ในการปรับคุณภาพการบริการ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของเงินร่วมจ่ายและคุณภาพที่เพิ่มขึ้น

      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า   สำหรับแนวทางการร่วมจ่าย 30 บาทนั้น คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม2555นี้โดยมีการร่วมจ่ายกรณีที่ประชาชนไปใช้บริการและได้รับยาเท่านั้น  หากไม่มีการสั่งยาก็ไม่ต้องร่วมจ่าย   จะยกเว้น คนยากจน(จากฐานข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย) และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล     ทั้งนี้หน่วยบริการจะมีเงินรายได้จากการร่วมจ่ายคาดว่าปีละ 2,000 ล้านบาท  โดยในอนาคต จะนำไปใช้พัฒนาคุณภาพปฐมภูมิ   หรือการสนับสนุนค่าตอบแทนบุคลากรเป็นต้น   
ทั้งนี้สำหรับกลุ่มที่ต้องร่วมจ่าย 23 ล้านคน และอีก 24 ล้านคนเป็นกลุ่มยกเว้นการร่วมจ่าย ซึ่งรพ.สามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพบริการเพื่อกลับมาตอบสนองตามความต้องการของประชาชนได้ เช่น การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ หรือนำไปจ่ายค่าตอบแทนเพื่อเพิ่มคุณภาพบริการให้กับประชาชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าตอบแทนตามภาระงานที่เพิ่มขึ้น
นายวิทยากล่าวว่าสำหรับคุณภาพที่ประชาชนจะได้รับจากบริการที่ดีขึ้นได้แก่ประการแรก  ระบบฉุกเฉินสามารถรับบริการที่ใดก็ได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน และไม่ถูกถามสิทธิ์ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 
ประการที่2.การเปลี่ยนหน่วยบริการกรณีย้ายภูมิลำเนาจะง่ายขึ้นจากเดิมที่เปลี่ยนได้ปีละ 2ครั้ง จะปรับให้มีการเปลี่ยนได้มากขึ้น เป็น 4 ครั้ง
ประการที่3ประชาชนจะได้รับบริการตามนโยบายรับบริการได้ทั้งวัน  ซึ่งหน่วยบริการทั่วประเทศจะเปิดให้บริการตั้งแต่เช้า บ่าย โดยเริ่มที่  รพ.ทั่วไป รพ.ศูนย์ รพ.ในสังกัดอื่นๆ เช่น รพ.มหาวิทยาลัย  เป็นต้นเพื่อลดความแออัดของการบริการ ขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำในพื้นที่ได้สะดวกยิ่งขึ้นโดยใช้บัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านเท่านั้น    

////////////////////    13 มิถุนายน 2555


ที่มา : http://www.nhso.go.th/FrontEnd/NewsInformationDetail.aspx?newsid=NDE0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น