วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประชุมเครือข่ายพัฒนาระบบสารสนเทศฯ ครั้งที่ 6 ตอนที่ 3

สรุปผลการประชุมเครือข่ายพัฒนาระบบสารสนเทศโรงพยาบาลชุมชน ครั้งที่ 6 เรื่องดำเนินมาถึงตอนสุดท้ายแล้วครับ ซึ่งผมคงจะสรุปประเด็นที่เป็นโอกาสพัฒนาของโรงพยาบาลวานรนิวาสที่อาจจะได้นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา ซึ่งผมจะขอเล่าด้วยภาพถ่ายนะครับ

มาดูกันที่ ภาพแรก กันครับ รูปนี้ผมถ่ายที่บริเวณ หน้าห้องการเงินครับจากจุดนี้ จะมองเห็นผู้ป่วยที่เดินเข้ามารับบริการ นั่งรอตรวจ และการจัดบริการ หลังจากออกจากห้องตรวจ แบบแปลนอาคารของ รพ.วานรนิวาส คล้ายๆกับอาคารของ รพ.อุบลรัตน์ ครับ แต่มีการบริหารจัดการพื้นที่ในบริเวณนี้ได้ดีครับ เพราะดูแล้วโล่ง สบายตามากครับ และดูเหมือนว่าจะเป็น OPD ติดแอร์ด้วย  แอบมองด้วยตาร้อนผ่าวๆ..
การจัดบริการที่ OPD เป็นจุดที่มีผลต่อความสะดวกรวดเร็ว ของการเข้ารับ และให้บริการที่สำคัญมากครับ  เพราะเป็นการจัดบริการให้กับคนไข้จำนวนมาก และค่อนข้างวุ่นวาย ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะมีการจัดบริการตรงจุดนี้แตกต่างกันไปตามบริบทและความเคยชิน โรงพยาบาลที่มีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้อาจจะมีการปรับ Flowตรง OPDใหม่ แต่ก็มีหลายแห่งที่นำระบบคอมพิวเตอร์มาให้บริการ แต่ยังคงใช้ Flow การทำงานแบบเดิม
ในส่วน Flow OPD ของ รพ.วานรนิวาส มีการจัดวางตำแหน่งของโต๊ะจุดซักประวัติ ไว้ที่หน้าห้องตรวจ ซึ่งมีอัตรากำลังพยาบาล 3 คน โดยเมื่อคนไข้ผ่านจุดทำบัตรมาเรียบร้อยแล้วจะมานั่งรอหันหน้าเข้าห้องตรวจรอเรียกชื่อเพื่อซักประวัติ ตรวจวัดสัญญานชีพ และเข้าห้องตรวจโรค หลังจากออกจากห้องตรวจโรคแล้ว ยังหน้าที่ตรวจดูรายการคำสั่งรักษาของแพทย์ และแนะนำกับผู้ป่วย เช่น ไปห้องแล๊ป ไปเอ๊กเรย์  ไปห้องยา รอรับใบนัด ฯลฯ และจะมีจุด Admit,refer เท่าที่สังเกตดูเหมือนว่าคนไข้ต้องเดินย้อนไปตรงจุดทางเข้า OPDทำให้ลักษณะการเข้ารับบริการมี Flowที่เดินย้อนกลับไปกลับมา และการวางตำแหน่งของเก้าอี้ที่ผู้ที่รอซักประวัติและรอตรวจ ซึ่งส่วนใหญ่จะหันหน้าเข้าหาพยาบาลหน้าห้องตรวจเกือบทั้งหมด ทำให้รู้สึกถึงแรงกดดันทางสายตาของผู้ป่วยที่ทั้งรอซักประวัติ รอเข้าห้องตรวจ ที่นั่งรออยู่พอสมควร ก็เป็นความเห็นและมุมมองต่างมุมของคนภายนอกนะครับ ผมคิดว่าทีมของ รพ.วานรนิวาสคงได้พิจารณาความเหมาะสมและสะดวกต่อทุกฝ่ายกันแล้ว จึงจัด Flow การรับบริการออกมาแบบนี้


ภาพที่สอง เป็นภาพถ่ายที่ผมถ่ายจากบริเวณห้องจ่ายยา OPD เนื่องจาก รพ.วานรนิวาสไม่ได้ค้น OPD card แพทย์ พยาบาลดูประวัติการตรวจรักษาผ่าน HOSxP และพิมพ์ OPD Card และใบสั่งยาทำให้เอกสารที่ถูกส่งมาห้องยา จึงมีเพียงแค่ใบสั่งยาเท่านั้น ซึ่งเภสัชจะไม่สามารถดูประวัติย้อนการรับยาย้อนหลังได้ เพราะไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ในการจ่ายยา ตรงจุดนี้ในห้องประชุมทีมสมาชิกมีประเด็น ที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันพอสมควร และมีข้อเสนอแนะว่า จะเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะโดยปกติเภสัชควรจะมีข้อมูลประวัติการรับยา หรือแม้กระทั่งข้อมูลการตรวจร่างกายต่างๆ ประกอบด้วย ซึ่งหากไม่ค้น OPD Card ควรจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เภสัชสามารถดูข้อมูลประวัติจาก HOSxP เพราะจะมีรายละเอียด เช่น ประวัติการแพ้ยา ประวัติการรับยาเก่า ยาใหม่ รายชื่อผู้รอรับยา คนที่รอรับยานาน หรือข้อมูลอื่นๆที่ใช้สื่อสารกันภายใน เช่น Note เตือนต่างๆ ถ้าหากไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ตรงจุดจ่ายยา ข้อมูลแต่ละหน่วยงานที่ลงบันทึกมา ห้องยาก็แทบจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

ภาพที่สาม เป็นภาพที่ผมอยากให้น้องๆ Admin ของแต่ละโรงพยาบาล ได้เข้าใจว่าการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน บางครั้งที่คนในองค์กรไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ยอมใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่พวกเราคิดว่ามันง่าย และดีกว่านั้น  บางครั้งมันมีเหตุผลและความจำเป็นที่พวกเราไม่อาจเข้าใจ..
ถ้าเราย้อนเวลากลับก่อนที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าทุกคนในองค์กร ยังคงทำงานตามหน้าที่ ที่ตัวเองรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี ห้องบัตรยังค้นบัตรได้ พยาบาลซักประวัติ แพทย์ตรวจรักษา เภสัช จ่ายยา การเงินก็ยังเก็บเงิน ออกใบเสร็จ ทำรายงานได้ถูกต้อง ซึ่งสำหรับบางคนในองค์กรสิ่งเหล่านี้ คือ งานที่รับผิดชอบทำมานานหลายปี จนมีความรู้ ความชำนาญ จะเรียกว่าเชี่ยวชาญก็คงไม่ผิดนักและที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การที่ยังทำงานได้เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า ดังนั้นเวลาที่นำระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปแทนวิธีการทำงานแบบเดิม งานง่ายๆหมูๆของในความคิดของพวกเรา แต่สำหรับคนที่ไม่เคยใช้ หรือไม่มีความชำนาญจะกลายเป็นงานเข้า บุคลากรที่ัยังไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง จากงาน(ยุ่งๆ)ง่ายๆที่เคยทำได้ กลายเป็นงานที่ทำให้ตัวเองรู้สึกงุ่มง่าม อืดอาด หลายๆคนปฏิเสธการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะรู้สึกว่าคอมพิวเตอร์เป็นภาระทำให้ทำงานได้ช้ากว่าเดิมมาก  ดังนั้นถ้าหากไม่ได้เตรียมความพร้อมและแนวทางการสนับสนุนให้ดีพอ อาจจะทำให้ระบบใหม่ๆ กลายเป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับคนในองค์กรโดยไม่รู้ตัว..
ภาพที่สี่ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จาก โรงพยาบาลวานรนิวาสอีกอย่างหนึ่ง คือ การผสมผสานการใช้งาน HOSxP กับคนหลายๆวัยได้ค่อนข้างดีครับ ที่นี่ไม่มีการค้น OPD Card ใช้การดูประวัติและตรวจรักษา โดยการลงบันทึกข้อมูลผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่โรงพยาบาลอื่นๆยังทำได้ยากครับ แม้กระทั่ง รพร.ด่านซ้ายเองก็ยังใช้วิธีการค้น OPD Cardทำให้เห็นข้อแตกต่างได้อย่างชัดเจน ในเรื่องของเวลาในการให้บริการ
ในบางหน่วยงาน ที่มีเจ้าหน้าที่เป็นบุคลากรอาวุโส คอมพิวเตอร์ก็ยังยาขมสำหรับคนกลุ่มนี้ ทำให้บางหน่วยงานยังใช้ทะเบียนรายงาน โดยเก็บบันทึกข้อมูลควบคู่ไปกับการลงเขียนบันทึก และลงบันทึกข้อมูลทั้งในคอมพิวเตอร์ และการเขียนลงในสมุดทะเบียนได้สมบูรณ์ด้วยนะครับ  ภาพนี้ผมขอถ่ายจากทะเบียนห้องเอ็กเรย์ซึ่งได้ฟังพี่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานนี้เล่าให้ฟังเรื่องการทำข้อมูลรายงาน พร้อมทั้งสาธิตการค้นหาข้อมูลจากสมุดทะเบียน(ที่ดูเหมือนว่าจะถนัดมากกว่าค้นในคอมพิวเตอร์) ด้วยสีหน้าท่าทางและน้ำเสียงที่ดูมีความสุขและความภาคภูมิใจ

งานห้องคลอด เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ผมได้เข้าไปศึกษาดูงาน ที่สนใจเพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องลงบันทึกข้อมูลค่อนข้างเยอะทั้งในส่วนของ OPDและ IPDไปด้วยในตัว การลงบันทึกข้อมูลของห้องคลอดสำหรับโรงพยาบาลที่ใช้ HOSxPส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องข้อมูลไม่สมบูรณ์ แต่สำหรับโรงพยาบาลวานรนิวาส ต้องชมเลยครับว่าเจ้าหน้าที่ห้องคลอดลงบันทึกข้อมูลและมีทัศนคติที่ดีให้ความสำคัญต่อการลงบันทึกข้อมูลอย่างมาก

มีอีก 2-3 หน่วยงานที่ผมเข้าไปศึกษาดูงาน แต่อาจจะไม่ได้ลงในรายละเอียดให้เพราะส่วนใหญ่ทำได้ดีอยู่แล้วครับ คำแนะนำที่อยากให้ทางโรงพยาบาลวานรนิวาสพิจารณาดำเนินการต่อ คือ การ

ในการประชุมวันที่ 2  มีการนำเสนอเกี่ยวกับ ICD10และการปรับตารางต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยหน่อย admin รพร.บ้านดุง ทำให้พวกเราได้ความรู้เกี่ยวกับ ICD9 และ ICD10 ที่มีการปรับใหม่ รวมถึงการแจกแถมตารางที่สำคัญๆ ให้น้องๆ admin รพ.เครือข่าย ที่สามารถนำไปใช้หรือดูประกอบเป็นแนวทางได้เลย ซึ่งยังมีเวลาในการให้ทีมงานได้ศึกษาและเตรียมความพร้อมของข้อมูลกันอีกจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เนื้อหาการประชุมที่น่าสนใจในครั้งนี้ คือ การนำเสนอโปรแกรมที่เป็น Tools การใช้งานของ อ.อาร์ม ทุกโปรแกรม ไม่ว่าจะเป็น Ds service ,Ds managment , และตัวโปรแกรมล่าสุด Ds Asset ซึ่งถือโอกาสมาเปิดตัวเต็มๆในการประชุมครั้งนี้ด้วย  ในช่วงบ่ายทีมงานบางส่วนมีภาระกิจสำคัญที่โรงพยาบาล จึงขอตัวเดินทางกลับก่อน  ในช่วงตอนเย็นทางทีมงานได้พาพวกเราไปกราบนมัสการหลวงตาแตงอ่อน  ซึ่งบริเวณที่ด้านหน้าของวัดกำลังมีการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์แม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด แต่ก็เห็นความงดงาม ทำให้ adminนักถ่ายภาพหลายๆ อดใจไม่ไว้ต้องเอากล้องมาถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก

วันที่ 3 ของการประชุมเป็นการตรวจสอบข้อมูลบัญชี 1-10 และแก้ไขปัญหาของทางด้านเทคนิคต่างๆ ที่เป็นการตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูล ซึ่งข้อมูลในบัญชีต่างๆ ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เชื่อมโยง บางส่วนสามารถแก้ไขได้โดยใช้ tools ปรับปรุง แต่บางส่วนต้องแก้ไขในเชิงระบบ ด้วยการชี้แจงแนะนำให้เจ้าหน้าที่ลงบันทึกข้อมูลให้ถูกต้อง


ก่อนกลับ พวกเราแวะไปเยี่ยมชมบ้านของจ๋อง adminรพ.วานรนิวาส ที่กำลังก่อสร้างใกล้จะเสร็จแล้ว



สำหรับการประชุมเครือข่ายพัฒนาระบบสารสนเทศโรงพยาบาลครั้งที่ 6 ต้องขอขอบคุณท่านผู้อำนวยการ ทีมงานของโรงพยาบาลวานรนิวาสทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมของเครือข่ายและอำนวยความสะดวกในการประชุมเป็นอย่างดี  และขอขอบคุณสมาชิกเครือข่ายทุกท่านที่มาร่วมประชุมกัน สำหรับครั้งที่ 7 ยังไม่ได้กำหนดว่าโรงพยาบาลไหนจะเป็นเจ้าภาพนะครับ แต่เสนอไอเดียไว้ว่าประชุมครั้งหน้าจะตรงกับช่วงหน้าหนาว สนใจที่จะไปชมซากุระบานที่ภูลมโล อำเภอด่านซ้ายกันปล่าว ..


แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้า การประชุมเครือข่ายพัฒนาระบบสารสนเทศ ครั้งที่ 7 ที่???



2 ความคิดเห็น:

  1. ซากุระบานที่ภูลมโล...อยากไปเด้อคร้าบ

    ตอบลบ
  2. มีไฟล์ของ ICD10 กับ ICD9 ให้โหลดไหมครับพี่โด้

    ตอบลบ