วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ถนนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ


หลังจากทีมงานเดินทางออกจาก รพ.อุบลรัตน์ โดยมีผมเป็นคนสุดท้ายของทีมจังหวัดเลย ส่วนอุ้มกับจิ๊กรอรถของ รพ.อุบลรัตน์ไปส่งที่ อำเภอแวงใหญ่ วันนี้แม้ว่าทุกอย่างดูจะไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่นั่นก็เป็นแค่ความสงบก่อนที่พายุลูกใหญ่จะมาเยือน..

สิ่งที่ดูเป็นความหนักใจก่อนที่ทีมงานจะเดินทางกลับ คือ ปัญหาเรื่องที่ตั้งของเครื่อง Serverที่ดูเหมือนจะอยู่ผิดที่ผิดทาง และเป็นปัญหาที่มาผิดจังหวะและเวลา ซึ่งครั้งแรกพวกเราลงความเห็นว่าจะขอให้ที่ตั้งเดิมไปอีกสักพักจนถึงสิ้นเดือน แต่ดูเหมือนว่าจะมีปฏิกิริยาทางเคมีบางอย่างที่เร่งให้พวกเราต้องตัดสินใจเลื่อนเวลาให้เร็วมากขึ้นกว่าเดิม..

ผมคิดหลายอย่าง แม้กระทั่งอาจจะยอมยกเลิกโปรแกรมงานส่วนตัว และเดินทางไป รพ.อุบลรัตน์ อีกครั้งในวันเสาร์อาทิตย์ 20-21กุมภาพันธ์ สุดท้ายตัดสินใจยกโทรศัพท์โทรไปคุยกับอุ้มเพื่อปรึกษาหารือ แม้รู้ดีว่าอาจจะต้องขอร้องน้องต้องเหนื่อยอีกรอบ เป็นงานยากอีกหนที่ผมต้องตัดสินใจ  ภาระกิจใหญ่ที่ต้องทำคือการย้ายที่ตั้ง Server ทั้งๆที่เพิ่งขึ้นระบบได้ไม่กี่วัน 

ผมถามว่าอุ้มพอจะหาทีมงานได้หรือไม่ ก่อนจะประสานกลับไปยังพี่พรรณเรื่องความคืบหน้า จนสุดท้ายอุ้มให้คำตอบว่า มีทีมงานพร้อมรถสนับสนุนจากทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลแวงใหญ่ ด้วยความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ผมจึงเกหมดหน้าตักด้วยการโอนเงินที่ทางโรงพยาบาลอุบลรัตน์มอบให้หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ส่งมอบให้อุ้มและทีมงานดำเนินการต่อ..



ภาระกิจตั้งแต่บ่าย สิ้นสุดเอาตอนเที่ยงคืน ต้องขอบคุณทุกคน ที่สู้กันไม่ถอย..

สัปดาห์แรก คือ ช่วงที่ยากลำบากของการขึ้นระบบ เพราะเป็นช่วงของการปรับตัววิธีการทำงานกับระบบงานใหม่ ความคุ้นชินที่ทำมานานหลายปี มันถูกฝังเป็นระบบอัตโนมัติที่ทำให้ไม่ว่าใคร ไม่อยากก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง

จำนวน Hardware ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ ล้วนแล้วแต่สร้างจุกจิกยุ่งยากใจให้กับผู้ใช้ไม่น้อย พิมพ์ออกบ้าง ไม่ออกบ้าง กระดาษติด พิมพ์ไม่ออก ฯลฯ สาระพัดปัญหา  ไหนจะเรื่องของผู้ใช้ที่ยังไม่คล่องกับการใช้งาน แน่นอนว่าภาระหนักคือทีมแอดมิน ที่ไม่เคยได้เรียนมาทางด้านการซ่อมคอมพิวเตอร์แต่งานนี้จำเป็น..

แรงต้าน..
อุปสรรคสำคัญของการเปลี่ยนระบบ คือ แรงต้านของผู้ใช้ที่ยังไม่เข้าใจ หรือไม่พยายามเข้าใจ และอาจไม่มั่นใจกับระบบใหม่ บางเรื่องก็เป็นผลกระทบกับคนทำงานเก่า ทำให้เกิดกำแพงปิดกั้นขึ้นในใจอย่างเงียบๆ ไม่ลงข้อมูลให้บ้าง หรือลงแบบผ่านๆไม่ได้ลงรายละเอียดให้สมบูรณ์ และแม้กระทั่งเสียงที่เล็ดลอดบ่นออกมาให้ได้ยินว่าน่าจะกลับไปใช้ระบบเดิมดีกว่า เป็นคำพูดที่ช่วยย้ำและซ้ำเติมกำลังใจคนทำงานให้หดหายลงไปได้เป็นอย่างดี.. 

สัปดาห์ที่สอง
ผมใช้เวลาเกือบทุกวันในช่วงหลังเลิกงานในการรีโมทสอนการลงบันทึกข้อมูลเพิ่ม และการแก้ไขข้อมูล ชี้้ให้ทีมเห็นจุดอ่อนของระบบที่เกิดจากคีย์ข้อมูลไม่ถูกต้อง และการแก้ไขปัญหารายวัน ทั้งเรื่องระบบงานและปัญหาเรื่องคน โชคดีที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยย่อโลกให้ใกล้และสบายกว่าที่คิด การรีโมทไปทำและสอนงานทำให้ปัญหาหลายอย่างได้รับการแก้ไขไปได้อย่างรวดเร็ว.. 

สัปดาห์ที่สาม
มีช่วงที่วิกฤตเรื่องคนอยู่หลายครั้ง แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังเป็นประเด็นสำคัญอยู่บ่อยๆ ยังคงต้องคอยประคับประคองกันไปอีกนาน  ผมตรวจสอบข้อมูลในรอบสัปดาห์ที่สามและใช้ Tools ของ อ.อาร์มปรับในส่วนข้อมูลพื้นฐานได้เยอะพอสมควร ปัญหาหลักที่สำคัญคือเรื่องของการลงวินิจฉัยโรคซึ่งย้งคงค้างเป็นดินพอกหางเจ้าแบงค์ อยู่ไม่น้อย

สำหรับเป้าหมายในเดือนมกราคม 2555 ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องส่งออกข้อมูล 18 แฟ้ม และ 21 แฟ้มของโรงพยาบาลให้ได้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
"จากการตรวจสอบข้อมูล...การให้บริการผู้ป่วยนอก ตั้งแต่วันที่16/01/2555-31/01/2555
พบว่า บุคลากรของโรงพยาบาลไม่เข้าใจในลำดับโรคในการวิจนิฉัยของแพทย์
จึงไม่สามารถคีย์รหัสเข้า hos xp อย่างคร่าวๆๆได้ เพราะในโปรแกรมเป็นศัพท์ICD และแปลความหมายเป็นทางการ...จึงทำให้ทุกคนแอนตี้ในการคีย์รหัสโรคมาก ในฐานนะที่หนูเป็นทั้งผู้ดูแลระบบ และ เวชสถิติ..ซึ่งมีหน้ารับผิดชอบในการให้รหัสผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยใน
จึงคิดหนักเป็นอย่างยิ่ง..ในการคีย์ข้อมูลย้อนหลังในแต่ล่ะวันโดยเฉลี่ยวันละ200รายต่อวัน.
วันนี้ได้ดำเนินการแจกเอกสารประกอบการให้รหัสโรคที่พบบ่อยๆ.คำจำกัดความของลำดับการวินิจฉัยโรคของแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกคุณหมอ พี่พี่พยาบาลจุดต่างๆๆ
พร้อมอธิบายคร่าวๆ..รอยยิ้มเสียงตอบรับที่พร้อมจะคีย์ช่วย..แค่นี้ก้อเป็นกำลังใจที่สุดสำหรับเด็กจบใหม่อย่างหนู.."
*แต่งานหนักของ ทีมแอดมิน รพ.อุบลรัตน์คือเคลียร์ข้อมูลย้อนหลังเพื่อสามารถส่งออกข้อมูลได้ภายในสิ้นเดือน...  ความในใจจากสาวธนาคาร..ที่ชื่อว่าแบงค์ (ฮิ้ว) 

หากมองย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้น ผมคิดว่าพวกเราทุกคนคงได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่พี่พรรณโทรศัพท์มาหาผม การมาฝึกอบรม/ดูงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย มีอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำก็ต้องได้ทำ ..
ในช่วงที่ยากลำบากทำให้เราได้เห็นและเข้าใจ "คน" และเข้าใจ "องค์กร" มากขึ้น
และในขณะที่เรื่องบางอย่างที่ยังคาราคาซัง ผมคิดว่าการเอ่ยคำว่า "ขอโทษ"  คงเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด

ก่อนจบบทความของวันนี้ ผมขอเอาเรื่องราวดีๆ จากวินบุ๊คคลับมาให้ทุกท่านได้อ่าน ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราทุกๆ สำหรับการดำเนินชีวิตในถนนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ..

รถยนต์ใต้สะพาน.. วินทร์ เลียววาริณ

รถบรรทุกสินค้าคันหนึ่งแล่นเข้าใต้สะพานแห่งหนึ่ง แต่ลอดผ่านไปไม่ได้ เนื่องจากความสูงของรถบรรทุกสูงกว่าท้องสะพานเล็กน้อย แม้ความต่างจะมีเพียงเล็กน้อยไม่ถึงนิ้ว แต่คนขับก็จำต้องหยุดรถและเตรียมถอยกลับไปหาเส้นทางอื่น

แต่ก่อนที่เขาจะทำเช่นนั้น ใครคนหนึ่งก็เสนอความคิดว่า ไม่จำเป็นต้องถอยกลับ เขายังสามารถขับรถลอดสะพานได้ เพียงแค่ปล่อยลมยางออกไปส่วนหนึ่ง ล้อรถจะแบนลงกว่าเดิมสักนิ้ว รถก็ต่ำพอลอดใต้สะพานนั้นไปได้

บางปัญหาเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา มีทางแก้อยู่ตำตานี่เอง มองด้วยมุมเดิมมักไม่เห็น ขอเพียงเปลี่ยนมุมมองเล็กน้อยเท่านั้นก็แก้ปัญหาที่ดูเหมือนสวนทางกับตรรกะได้ลุล่วงอย่างไม่น่าเชื่อ

ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ เราควรแยกให้ออกว่าปัญหาอยู่ที่ ‘รถ’ หรืออยู่ที่ ‘สะพาน’ แล้วแก้ตรงจุดนั้น
สะพานปรับไม่ได้ รถปรับระดับได้ ดังนั้นหากมองแต่ ‘สะพาน’ ก็อาจไม่เห็นทางออก
คนส่วนมากมักมองว่าปัญหาอยู่ที่คนอื่น ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ บางครั้งไม่ใช่เพราะอคติ แต่เพราะมองสถานการณ์แค่ที่จุดจุดเดียว

ปรัชญา ‘ลดลมยาง’ ยังสอนเราว่า การอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ ‘ยอมเขาก่อน’ อาจช่วยแก้ไขหลายปัญหาได้
หากไม่ยอมปล่อยลมยางออกไปบ้าง แข็งขันดื้อดึงดันทุรังอย่างเดียว ปัญหาก็อาจยังคงเป็นปัญหา
ปรัชญา ‘ลดลมยาง’ ก็คือหลักทางสายกลางของพุทธนั่นเอง ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป เป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่สร้างปัญหาน้อยที่สุด

บางครั้งเราก็ควรทำตัวเป็น ‘สะพาน’ บางครั้งเป็น ‘ยางรถ’

บางเรื่องในชีวิตเราต้องเป็นสะพาน แข็งแกร่ง ไม่ยอมอ่อนข้อให้ใครหรืออะไร เช่นยืนหยัดหลักการความถูกต้อง ความยุติธรรม แต่ในบางเรื่องเราอาจต้องยอมเป็นยางรถยนต์ ยอมลดความแข็งลง ยอมเขาก่อน แล้วสถานการณ์ก็อาจดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ชีวิตมีทั้งการใช้ไม้แข็งและไม้อ่อน ไม่แข็งเสมอไป ไม่อ่อนตลอดเวลา
สถานการณ์การเมืองหลายเรื่องของเราเป็นการเผชิญหน้าโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ผลก็คือการปะทะชนกัน ต่อให้ชนะก็เสียหายเช่นกัน โดยมากเป็นความเสียหายต่อส่วนรวม ดังที่คนโบราณเปรียบว่า เมื่อช้างสารสองเชือกประสานงากัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ

ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าคนเป็นเจ้านายหรือลูกน้องก็ต้องรู้จักเป็น ‘สะพาน’ และ ‘ยางรถ’ ในโอกาสและสถานการณ์ที่พอเหมาะ

เจ้านายที่แข็งตลอดเวลายากที่จะรักษาลูกน้องดีๆ ไว้ แต่ถ้าอ่อนปวกเปียก องค์กรก็ล้มได้

ทางสายกลาง!

ปรัชญา ‘สะพาน-ยางรถ’ สามารถใช้ได้ดีในเรื่องความรักเช่นกัน
หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำตัวเป็น ‘สะพาน’ อย่างเดียว ไม่ยอมเป็น ‘ยางรถ’ บ้าง ชีวิตคู่ก็ล่มได้

ธอมัส เมอร์ตัน นักเขียน-นักปราชญ์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง มนุษย์ที่แท้ เขียนว่า “การเริ่มต้นของรักคือการยอมให้คนที่เรารักเป็นตัวของพวกเขาเองโดยสมบูรณ์ ไม่ปรับแปลงพวกเขาให้เข้ากับภาพของเรา มิฉะนั้นเราก็รักเพียงภาพสะท้อนของตัวเราที่เราพบในพวกเขา”

อย่าพยายามเปลี่ยนคนที่เรารักให้เหมือนเรา (ด้วยข้ออ้างว่าเพราะเรารักเขานี่นา) แต่หาทางอยู่ด้วยกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เปรียบเหมือนสายน้ำที่เมื่อไหลเจอภูผา ก็รู้จักอ่อนตัวลง เมื่อเจอเศษดินเศษทราย ก็ไหลเชี่ยวกรากเพื่อชะล้างพวกมันออกไป

เพราะชีวิตสั้นนิดเดียว อย่าผ่านไปอย่างสุดโต่ง ไม่สนุกหรอก
และเพราะชีวิตก็เหมือนการขับรถ ช้าหรือเร็วก็ต้องลอดใต้สะพานที่เตี้ยกว่ารถของเรา

วินทร์ เลียววาริณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น