วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จิตวิญญานแห่งเหลยเฟิง

วันที่ 5 มีนาคมนี้ เป็นวันครบรอบ 50 ปี ที่ท่านประธานเหมา เจ๋อตง อดีตผู้นำสูงสุดของจีนเขียนคำขวัญ "เซี่ยง เหลย เฟิง ถง จื้อ เสวีย สี" (向雷锋同志学习) หรือ "เอาอย่างสหายเหลยเฟิง" เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนทั้งประเทศประพฤติตนเป็นคนดีตามอย่างเหลยเฟิง สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ นับตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันที่ 5มีนาคมของทุกปี สังคมจีนพากันจัดกิจกรรมเอาอย่างเหลยเฟิง


เหลยเฟิงเกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจนในมณฑลหูหนานเมื่อปีค.ศ. 1940 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามต่อต้านการรุกรานของทหารญี่ปุ่น ชีวิตครอบครัวจึงยากลำบากมาก ทำให้พ่อแม่ พี่ชาย และน้องชายของเขาทยอยเสียชีวิตไป เหลยเฟิงจึงกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบ เมื่อปี 1960 เหลยเฟิงสมัครเข้าเป็นทหารประจำการ และได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าหมู่ในปีถัดมา ปี 1962 เหลยเฟิงก็ได้ประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 22 ปีหลังจากเขาเสียชีวิตไปไม่นาน ประธานเหมา เจ๋อตงและผู้นำคนอื่นๆ ในตอนนั้นได้รับรายงานเกี่ยวกับเรื่องราวการทำความดีของเหลยเฟิงแล้ว ต่างรู้สึกประทับใจ โดยเห็นว่าควรเผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ของเหลยเฟิง ให้เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศได้ศึกษาและถือเป็นแบบอย่าง
วันที่ 5 มีนาคมปี 1963 ประธานเหมา เจ๋อตง ได้เขียนคำขวัญ"เซี่ยง เหลย เฟิง ถง จื้อ เสวีย สี" (向雷锋同志学习) หรือ "เอาอย่างสหายเหลยเฟิง" รวมถึงผู้นำท่านอื่นๆก็พากันเขียนคำขวัญสดุดีคุณงามความดีของเหลยเฟิงด้วย เช่นประธานาธิบดีหลิวเซ่าฉี นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนจู เต๋อ ต่างเขียนคำสดุดียกย่องและลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เหรินหมินยื่อร์เป้าและหนังสือพิมพ์รายใหญ่อื่นๆ เผยแพร่ไปทั่วประเทศ นับแต่นั้นก็ได้ถือให้ วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรำลึกแห่งการ "เอาอย่างเหลยเฟิง"

เหลยเฟิงเป็นคนที่มีน้ำจิตน้ำใจต่อผู้คนรอบข้าง ทั้งที่เขารู้จักและไม่รู้จัก เขายินดีช่วยเหลือคนอื่นเสมอ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้รับยกย่องเป็นผู้มีจิตใจ "รับใช้มวลชน" (为人民服务) อยู่เสมอ เขามักจะใช้เวลาในช่วงวันหยุดหรือเวลาพักผ่อนจากการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อพบเห็นใครที่ตกทุกข์ได้ยากหรือต้องการความช่วยเหลือ เขาก็ไม่ลังเลที่จะเข้าไปช่วยทันที


เหลยเฟิงเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์กับตนเอง แต่เอื้อเฟื้อกับผู้อื่น ก่อนเข้าเป็นทหารประจำการ เขาเคยทำงานกว่า 3 ปี เก็บสะสมเงินได้ 200 หยวน พอได้ข่าวว่า เขตพื้นที่หนึ่งประสบภัยน้ำท่วม เขารีบนำเงินไปบริจาคให้ทันที 100 หยวน ที่เหลืออีก 100 หยวน นำไปบริจาคให้กลุ่มเยาวชน หลังจากเข้าเป็นทหารประจำการ แต่ละเดือนเขาได้รับเบี้ยเลี้ยงเพียง 6 หยวนเท่านั้น นอกจากนำไปซื้อยาสีฟันและสบู่ซักผ้าแล้ว เขาไม่เคยใช้จ่ายซื้ออะไรเลย แม้ว่า น้ำดื่มก็ไม่เคยซื้อสักขวด และถุงเท้าของเขาใส่จนนิ้วเท้าโผล่ออกมา ก็ต้องปะแล้วปะอีก ยังไม่ยอมทิ้ง แต่ถ้าเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ต่อให้บริจาคจนหมดตัวเขาก็ไม่นึกเสียดายเลย
เรื่องเหลยเฟิงช่วยเหลือคนอื่นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน หลังจากเหลยเฟิงได้รางวัลบุคคลดีเด่นระดับมณฑล มักจะได้รับเชิญไปบรรยายที่ต่างถิ่น ผู้คนโดยทั่วไปต่างรู้กันว่า เมื่อเหลยเฟิงนั่งรถไฟไปต่างถิ่น จะช่วยเหลือคนอื่นตลอดทาง ช่วยส่งน้ำดื่มให้ผู้โดยสาร ช่วยทำความสะอาดบนรถไฟ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่อุ้มเด็กนั่งเสียใจอยู่ในสถานีรถไฟ เพราะทำตั๋วรถไฟและกระเป๋าเงินหาย เขาก็ซื้อตั๋วรถไฟใบหนึ่งให้ผู้หญิงคนนั้นทันทีโดยไม่ลังเลและไม่สงสัยอะไรเลย เรื่องทำนองนี้ มีเกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน
เหลยเฟิงเคยเขียนในบันทึกประจำวันว่า จะพยายามใช้ชีวิตที่มีจำกัดนี้เพื่อรับใช้มวลชนถือเป็นภาระหน้าที่ที่ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจเหลยเฟิงและเรียกเขาว่า "คนโง่ " เพราะว่าเขานำเงินไปบริจาคช่วยเหลือคนอื่นจนหมดตัว แต่ตัวเขาเองไม่แยแสต่อคำประชดเหล่านั้น เขาบอกว่า มีความสุขมากที่สามารถช่วยเหลือคนอื่น และยินดีเป็น"คนโง่ "ตลอดไป ส่วนผู้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากเหลยเฟิงนั้น ล้วนยกย่องเขาว่าเป็น "คนดี"
ปัจจุบัน สภาพสังคมและการเมืองเปลี่ยนไปจากอดีต ค่านิยมและจิตสำนึกของคนสมัยใหม่เปลี่ยนแปลง อาจเพราะวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามีบทบาทและเทคโนโลยีอันทันสมัย ทำให้เยาวชนมีความคิดเปลี่ยนแปลงไปบางที พบผู้ที่ทำกระเป๋าเงินหายและมาขอความช่วยเหลือกับเรา มักจะเกิดข้อสงสัยว่า จริงหรือเปล่า เมื่อไม่นานมานี้ สังคมจีนยังมีการถกประเด็นปัญหาเรื่องพบผู้สูงอายุล้มลงควรไปช่วยไหม เรื่องแบบนี้ ถ้าเป็นข้อถกเถียงกันในสมัยเหลยเฟิง จะเป็นเรื่องแปลกมาก
เหลยเฟิงยังเป็นคนที่ทำงานอย่างจริงจัง ทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงานทุกตำแหน่ง เขาไม่เลือกอาชีพงาน ไม่เลือกตำแหน่งงาน ไม่เกี่ยงงานหนักงานเบา เขารักงานที่ทำทุกอย่างและทุ่มเทอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อย่างสุดความสามารถ อดทนขยันขันแข็ง พยายามทำงานให้ดีที่สุด


เหลยเฟิงเริ่มเข้าทำงานเมื่ออายุเพียง 16 ปี ตั้งแต่นั้นมา เขาเคยเปลี่ยนงาน 4 ครั้ง แต่ไม่ว่าทำงานอะไร เขาได้รับการคัดเลือกเป็นพนักงานดีเด่นทุกปี และได้รับเกียรติบัตรหลากหลายอย่างนับไม่ถ้วน เช่น ก่อนเป็นทหาร เขาเคยรับราชการในอำเภอเมือง เคยทำงานในฟาร์มการเกษตร เคยเป็นกรรมกรในโรงงานถลุงโลหะ ภายใน 3 ปี เขาเคยได้รับการยกย่องเป็นบุคคลดีเด่น 3 ครั้ง ได้รับรางวัลแรงงานดีเด่น 18 ครั้ง ได้รับการคัดเลือกเป็นแบบอย่างเยาวชน 5 ครั้ง และได้รับเกียรติบัตร 2 ใบ หลังจากทำงานได้ไม่ถึงสามปีก็ได้รับรางวัลสรรเสริญเชิดชูมากมาย ทั้งนี้ ไม่รวมรางวัลและเกียรติยศหลังจากเป็นทหารประจำการคนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ทำงานเพื่อชาติอย่างจริงจัง ไม่เกี่ยงงานหนักงานเบา ไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนตนและมีน้ำจิตน้ำใจต่อผู้คนรอบข้างทั้งรู้จักและไม่รู้จัก ไม่ว่าสังคมไหนก็ต้องการคนเช่นนี้ค่ะ เพราะจะสามารถนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ด้วยดีต่อไป

ในสังคมทุกประเทศมักจะมีคนใจดีทำดีอย่างเหลยเฟิงไม่น้อย เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่า ทำดีโดยบังเอิญสักครั้งไม่ยากนัก สิ่งที่ยากคือยึดมั่นในการทำดีให้ตลอดติดต่อกันเป็นสิบๆ ปี ไม่เพียงแต่ตัวเองทำดีเท่านั้น หากยังระดมคนรอบข้างให้ทำดีด้วยกิจกรรมเอาอย่างเหลยเฟิงที่มีขึ้นทุกปีช่วยสร้างจิตสำนึกและให้กำลังใจผู้ที่ทำดีเชิดชูจิตใจเสียสละทำงานอย่างจริงจังและยินดียื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ รวมถึงช่วยส่งเสริมเยาวชนและประชาชนให้รักชาติ รักพี่น้องเพื่อนพ้อง และมีนิสัยโอบอ้อมอารีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 
แม้ว่าสังคมเปลี่ยนไป แต่เชื่อว่า"จิตใจแห่งเหลยเฟิง"ได้ปลุกเร้าและถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งสืบไปอย่างต่อเนื่อง



1 ความคิดเห็น: