วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

ชีพจรลงเท้า..

ผมตอบรับคำเชิญจากนงค์ ฝ่ายทันตสาธารณสุข สสจ.เลย ที่เชิญผมไปร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่อง 43แฟ้ม และการลงบันทึกข้อมูลใน HOSxPที่เกี่ยวข้องกับงานทันตกรรม ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน "บุญมี"เพื่อนรักที่ทำงานอยู่ศูนย์คอมพิวเตอร์ จังหวัดมุกดาหาร ได้ติดต่อมาเชิญให้ผมไปช่วยแนะนำ Adminของโรงพยาบาลในหัวข้อเดียวกัน แม้ว่าผมจะนั่งยันนอนยันว่าเนื้อหารายละเอียดต่างๆนั้น เป็นเรื่องเดียวกับในสไลด์ที่ปล่อยให้ download ไปก่อนหน้านี้ แต่เพื่อนก็ยืนยัน (และอาจจะเอาอย่างอื่นยันหากว่าผมไม่ไป)ว่าเพื่อความขลัง ทำให้ผมหาวันลงตัวได้ในช่วง 18-20เมษายน  พอดิบพอดี..
เนื้อหาการพูดคุยกันที่ จังหวัดอุดร ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการนำเสนอความก้าวหน้าของการเก็บข้อมูลทันตกรรม ในรูปแบบ Datacenter และการใช้งานในโปรแกรม JHCIS ซึ่งที่มีตัวแทนจาก รพ.สต.มานำเสนอการใช้งาน ส่วนผมไปเป็นตัวแทนในนามของผู้ใช้ HOSxP หลังจากนั้นเป็นการระดมสมองพูดคุยกันของผู้เข้าประชุม ที่ทำงานอยู่ในแวดวงทันตสาธารณสุข ทั้งในระดับเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน และ รพ.สต.
หลังจากเสร็จภาระกิจหน้าที่ของผม เลยถือโอกาสนั่งรับฟังความคิดเห็น ความต้องการข้อมูลในด้านทันตกรรมที่น่าสนใจจากผู้ปฏิบัติโดยตรง 

ระบบมาตรฐานข้อมูลทางด้านการแพทย์และสุขภาพของเมืองไทย เป็นอะไรที่ต้องมองให้กว้างแต่ก็ต้องไม่พลาดในประเด็นเล็กๆ จะว่าไปก็น่าเสียดายนะครับ เรามีบุคลากรไอทีที่ผมว่าเก่งมากๆ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้ต่างคนต่างทำงานอย่างโดดเดี่ยว ไร้การเหลียวแลจากหน่วยงานดูแลภาพใหญ่ของระบบ ทำให้บางครั้งสิ่งที่พัฒนามาใช้งานจึงอยู่ในวงจำกัดเฉพาะบางหน่วยงาน ยังดีที่มีเวทีแบบนี้ให้มาแสดงผลงานอยู่บ้าง แต่ก็ยังเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำเพื่อแก้ไขปัญหาความต้องการของตนเองเท่านั้นเอง

เรื่องที่ผมสนใจคือเรื่องเกี่ยวกับ DataCenterที่ทางทีม สสจ.หนองบัวลำภู พัฒนาขึ้นมาใช้งาน ซึ่งสามารถตอบโจทย์งานทันตกรรมได้ระดับหนึ่ง  ทำให้ผมคิดถึงการพัฒนา DataCenterในระดับจังหวัด แต่ในความเห็นของผมนั่นหมายถึง ศูนย์ข้อมูลสำคัญๆ ทางด้านการแพทย์และสุขภาพทั้งหมดที่ไม่ใช่ตอบโจทย์เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำยาก เป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็เป็นฝันของใครหลายคน..

หลังจากเสร็จภาระกิจจากจังหวัดอุดร  ผมเดินทางรอนแรมไปต่อที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเส้นทางนี้จะผ่าน อำเภอหนองหาน สว่างแดนดิน พังโคน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลชุมชนที่ผมเคยแวะเวียนเข้าไปช่วยดูระบบให้เมื่อหลายปีก่อน  แต่ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัดและระยะทางยังอีกยาวไกลทำให้ผมไม่ได้แวะหาพี่ๆน้องๆ ที่รู้จักคุ้นเคยกัน กว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทางที่จังหวัดมุกดาหารก็ปาเข้าไปสองทุ่มครึ่ง..

19 เมษายน 2556 : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร

จะว่าไป ผมได้มาจังหวัดมุกดาหารอย่างเป็นทางการครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งแรกนั้นนานมากมาเที่ยวในช่วงที่เป็นนักศึกษา และคลับคล้ายคลับคลาว่า เคยมานั่งเล่นเดินเล่นแถวๆตลาดอินโดจีน ริมฝั่งแม่น้ำโขงนี่แหละ แต่ก็ไม่นึกว่าออกว่ามาได้ยังไง มากับใคร มาเมื่อไหร่.. ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 มาตามคำเชิญของเพื่อนที่ชื่อ บุญมี ทองออน

บุญมี หรือพี่แฮป สมญานามตามที่น้องๆเขาเรียกกัน สมัยเรียนด้วยกันผมเรียกชื่อเพื่อนเต็มยศว่า บุญมี มาตลอด นึกไม่ออกว่าเพื่อนคนนี้เคยมีชื่อเล่นกับเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ เพิ่งมาถึงบางอ้อตอนที่มีคนเฉลยให้ฟัง ตอนแรกผมตามไม่ทันมุขนี้ เพราะชื่อ "พี่แฮป" มาจาก "Have" หรือที่แปลว่า "มี"ตามชื่อบุญมีนั่นแหละ ครับ 

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหารยังเป็นอาคารแปลนเก่า นานมากแล้วสำหรับความทรงจำของผมกับอาคารแปลนนี้ เพราะปัจจุบันสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดส่วนใหญ่ก่อสร้างใหม่เป็นแปลน 3ชั้น เห้นแล้วก็อดนึกถึงบรรยากาศสมัยมารายงานตัวทำงานเป็นข้าราชการใหม่ไม่ได้ ช่วงนั้นต้องไปช่วยพี่ๆเย็บ เข้าเล่มเอกสารอยู่หลายวันทีเดียว

ผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ เป็นตัวแทนมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีทั้ง Admin และผู้ปฏิบัติงานมาร่วมรับฟัง เนื้อหาหลักๆจึงเป็นการเน้นความเข้าใจในเรื่องของการลงบันทึกข้อมูล ตามแนวทางของ 43 แฟ้ม

จะว่าไป 43+7 แฟ้ม มีเอกสารอ่านประกอบที่เข้าใจไม่ยากนัก แต่บางอย่างเป็นเรื่องที่ต้องตีความ เพราะความเข้าใจในนิยามที่ไม่เหมือนกัน ผมเองก็ไม่ใช่กูรูผู้รู้ทั้งหมด จึงบอกได้แค่หลักการกว้างๆ และความน่าจะเป็น ตามประสบการณ์อันน้อยนิดที่ผ่านมา งานส่วนที่เหลือจึงเป็นหน้าที่ของผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่จะต้องไปติดตามค้นหากันต่อไป

เนื้อหาวันแรกจบลงตรงเวลา 16.00น.และมีนัดหมายกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ที่ โรงพยาบาลหว้านใหญ่อีกครึ่งวัน ก่อนที่ผมจะเดินทางกลับจังหวัดเลย

20 เมษายน 2556 : โรงพยาบาลหว้านใหญ่
เส้นทางที่จะกลับบ้านห่างออกจากตัวจังหวัดมุกดาหาร ขับรถออกมาประมาณ 30 นาที ถึงทางแยกเลี้ยวขวาแล้วขับรถมุ่งตรงไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงโรงพยาบาลหว้านใหญ่ คำว่า หว้านใหญ่ตามประวัติความเป็นมาว่ากันว่า "ท้าวสีหานามและท้าวหมาคำ ได้นำราษฎรจากเมืองมหาชัย ประเทศลาวอพยพมาตั้งถิ่นฐานเมื่อปี พ.ศ.2222 ซึ่งในบริเวณนั้นเป็นสวนว่าน และได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นให้ชื่อเรียกว่าบ้านหว้านใหญ่ เดิมทีบ้านนี้อยู่ในเขตเมืองพาลุกากรภูมิซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นกับเมืองมุกดาหารและยุบเป็นหมู่บ้านใน พ.ศ.2442 ในสมัย รัชการที่ 5 ขึ้นกับตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ ในปัจจุบัน
(อ้างอิง ประวัติอำเภอหว้านใหญ่ )

หลายปีที่ผ่านมานี้ ผมมีโอกาสเดินทางไปโรงพยาบาลชุมชนในเขตภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่างอยู่หลายแห่ง ได้เห็นความเหมือนและความแตกต่างในหลายๆเรื่องที่น่าสนใจ โรงพยาบาลหว้านใหญ่ เป็นโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA เป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้วิถี การทำงานของโรงพยาบาลคุณภาพอีกแห่งหนึ่ง

วันนี้เราเริ่มต้นกันด้วย การวิเคราะห์ฐานข้อมูลใน HOSxP ของโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลพื้นฐานของโรงพยาบาลในจังหวัดมุกดาหาร เท่าที่ผมทราบจะมีปัญหาคล้ายๆกัน และเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ซึ่งถ้าจะขยับจะรื้อจะทำอะไรใหม่ๆ ต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะหลายๆฝ่ายยึดติดกับระบบที่ลงตัวมานาน และโรงพยาบาลทุกแห่งยังไม่สามารถใช้ HOSxP ได้จนถึงระบบการเงิน

หลังจากพูดคุยกันจบ พวกเรามีโอกาสได้เดินเยี่ยมสำรวจการทำงานของโรงพยาบาลหว้านใหญ่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน และเก็บรวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ มาเพื่อช่วยกันหาทางแก้ไข  

ปิดท้ายการประชุมในครั้งนี้ด้วยมือเที่ยง โดยมีเมนูพิเศษตอนรับ เป็นสินค้าโอท้อปติดดาวของชาวหว้านใหญ่ ที่อร่อยมากๆ หนังกรอบ เนื้อนุ่ม  หากมีโอกาสแวะเวียนไปแถวนั้นอย่าลืม ไปลองลิ้มชิมรสหมูหันของหว้านใหญ่ดูนะครับ

ผมต้องขอขอบคุณเพื่อนรักทั้งบุญมี และจุฬา ที่ให้การดูแลต้อนรับเป็นอย่างดี ขอบคุณทีมแอดมินทุกท่านที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน และขอบพระคุณอย่างแรงสำหรับทีมโรงพยาบาลหว้านใหญ่ เสียดายที่มีเวลาดูระบบให้น้อยไปนิด ถ้ามีโอกาสจะกลับมาเยี่ยมเยือนติดตามความก้าวหน้าอีกครั้งครับ



22 ปี มิตรภาพมั่นยืน ถ่ายภาพกับเพื่อนและทีมแอดมิน จังหวัดมุกดาหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น