วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เรียนรู้เพื่อเข้าใจ.."ใจเขา" และ "ใจเรา"

ผมทิ้งระยะเวลาการบันทึกเรื่องราวใน ตอนที่ 4 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับ BMS-HOSxP และ LISไว้พอสมควร  เพื่อปล่อยให้ข้อมูลและเรื่องราวทุกอย่างได้เข้ามาสู่การรับรู้ ทั้งเรื่องเก่าและเรื่องราวที่เป็นแง่มุมใหม่ๆ โดยยังไม่ตัดสินใจอะไร ถ้าท่านใดที่ติดตามอ่านมาตั้งแต่ตอนที่ 1-3 ที่ผมใช้ชื่อเรื่องว่า "เราไม่สามารถมองเห็นป่าทั้งป่าได้  ถ้าพยายามมองผ่านแมกไม้.." คงพอจะได้เห็นภาพรวมของเรื่องราวทั้งหมด บางเรื่องเป็นเรื่องที่เราเองไม่ได้รับรู้มาก่อน ซึ่งผมมองว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้ปัญหาและหาทางออกไปพร้อมกันๆ
.............................................................................................................................................................

เรียนรู้เพื่อเข้าใจ..BMS-HOSxP
ตอนที่ 4 ผมจะรวบยอดข้อมูลทั้งหมดที่เป็นสาระสำคัญๆ จากเดิมทีที่คิดว่าปัญหา LIS เป็นเรื่องการพูดคุยเจรจาระหว่าง BMS และบริษัท LIS เท่านั้น ต่อมาเราได้เรียนรู้ว่ายังมีบริษัทน้ำยาและโรงพยาบาล ที่ควรจะต้องมารับรู้ข้อมูลและปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกันทุกฝ่าย ดังนั้นในตอนสุดท้าย ผมจะสรุปจุดเปลี่ยนที่สำคัญๆ ของเรื่องราวทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อให้พวกเราได้ "เรียนรู้..เพื่อเข้าใจ"ไปด้วยกัน 

ในร่างอนุสัญญา HOSxP Public License Version 1.0, มิถุนายน 2551(ถึงตอนนี้อาจจะมีเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง) ข้อความที่ผมคิดว่า "โรงพยาบาล" ที่ใช้ HOSxP จะต้องทำความเข้าใจกันคือ 

บริษัทบางกอกเมดิคัลซอฟท์แวร์ เจ้าของลิขสิทธิ์ HOSxP
" ถัดจากนี้ไปคำว่า "โปรแกรม HOSxP" หมายถึงโปรแกรมสำหรับใช้งานในสถานบริการทางด้านสาธารณสุขหรืองานในลักษณะดังกล่าว โดยเจ้าของลิขสิทธิคือบริษัทบางกอกเมดิคัลซอฟร์แวร์จำกัดและ"งานที่มีพื้นฐานจากโปรแกรม"หมายถึงโปรแกรมนั้นหรืองานดัดแปลงจากโปรแกรมนั้นตามกฎหมายลิขสิทธิ์: .."
ไม่มีรับประกัน
"เนื่องจากโปรแกรม HOSxP ได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้โดยไม่คิดมูลค่า เหตุนี้จึงไม่มีการรับประกันใดๆ ต่อโปรแกรม HOSxP ไปจนถึงขอบเขตเท่าที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องจะอำนวย. เจ้าของลิขสิทธิ์และ/หรือบุคคลอื่นส่งมอบโปรแกรม "ตามลักษณะปัจจุบัน" โดยปราศจากการรับประกันในลักษณะใด ๆ ไม่ว่าโดยแจ้งชัดหรือโดยปริยาย รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการรับประกันโดยปริยายถึงความเหมาะสมในการวางตลาด หรือความเหมาะสมในวัตถุประสงค์โดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เว้นแต่จะได้ระบุเอาไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร. คุณเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมดในเรื่องคุณภาพหรือประสิทธิภาพของโปรแกรม. หากปรากฏความจริงว่าโปรแกรมชำรุดบกพร่อง คุณจะเป็นผู้รับภาระต้นทุนในการบำรุงรักษา,ซ่อมแซมหรือแก้ไขเท่าที่จำเป็น.."
ในข้อความข้างต้น มีความชัดเจนอยู่แล้วในตัวนะครับว่า BMS คือเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่มีสิทธิโดยชอบในผลงานที่จะให้ใช้ หรือปรับปรุงอะไรต่างๆที่เห็นว่าเหมาะสม ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ขึ้นระบบโดยบริษัท BMS และมีการทำสัญญาตกลงบริการเป็นลายลักษณ์อักษร คงจะมีการวิธีการบริหารจัดการกันในแบบของบริษัทและลูกค้าที่ชัดเจน

แต่ถ้าเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่ขึ้นระบบโดยโหลดHOSxPมาใช้เอง คงต้องยอมรับความเสี่ยงในเรื่องของคุณภาพ,ประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับนโยบายต่างๆ อย่างกรณีของการเชื่อมต่อ LIS เป็นสิทธิที่ BMS-HOSxP ต้องการปรับปรุงความคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูลในระบบของโปรแกรม HOSxP  ที่เป็นลิขสิทธิ์ของ BMS

ตั้งแต่วันที่เรายอมรับอนุสัญญาของ HOSxP Public License Version นี้แล้ว นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลต้องน้อมรับความเสี่ยง ปัญหา และคุณภาพการใช้งานของโปรแกรมโดยไม่ควรไปต่อว่าหรือเรียกร้องใดๆ..กับเจ้าของลิขสิทธิ์ 

Activate คือ ค่าสนับสนุนการพัฒนา HOSxP โดยสมัครใจ
" ..เราจึงตัดสินใจที่จะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายในการพัฒนาใหม่ นั้นคือ เราจำเป็นต้องคิดค่าบริการเพื่อนำมาใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาระบบงานต่างๆใน HOSxP"  
" ซึ่งผมอยากให้ท่านคิดว่านี่เป็นการช่วยสนับสนุนทีมพัฒนาของ BMS ให้พัฒนาระบบต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดิม  นโยบายใหม่นี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป และท่านสามารถทดสอบระบบการ Activation นี้ได้ใน HOSxP รุ่น 3.55.8.15 เป็นต้นไปโดยยังไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใดๆ จนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม 2555 ครับ  การ Activation นี้จะมีเฉพาะใน HOSxP ครับ ไม่รวมไปถึง HOSxP-PCU ที่ยังใช้รูปแบบการพัฒนาแบบ FreeSoftware เช่นเดิมครับ ละสำหรับหน่วยงานที่ยังไม่พร้อมที่จะช่วยสนับสนุนค่าบริการนั้น ก็ยังสามารถใช้ HOSxP รุ่น 3.55.8.14 ต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้อง Activate โปรแกรมก่อนครับ"
การดำเนินงานเป็นบริษัท BMS ซึ่งถ้ามองอย่างเข้าใจเราก็จะรู้ว่า การทำธุรกิจผู้บริหารก็ต้องอยากเห็นองค์กรเติบโต มีความมั่นคง มีชื่อเสียง พนักงานมีความก้าวหน้า มีรายได้ดี มีความสุข เหมือนองค์กรทั่วไป และบริษัทก็ย่อมต้องมีรายได้มาจากการดำเนินธุรกิจ รายได้ของ BMS เท่าที่รู้กัน หลักๆได้มาจากการ Imprementระบบ HOSxP ให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการใช้งาน HOSxPให้มีประสิทธิภาพ ,การให้บริการ Maintenance Package  การฝึกอบรม ขายโปรแกรมเสริมการทำงานของ HOSxP การคิดบริการค่าพัฒนาซอฟท์แวร์ และค่าเชื่อมต่อ ฯลฯ

ถ้าพิจารณาจากนโยบายการเชื่อมต่อ LISบริษัท BMS ซึ่งให้เหตุผลสำคัญว่า "ได้พบว่ามีการเชื่อมต่อ HOSxPกับ LIS โดยตรงกับฐานข้อมูลของโปรแกรม BMS-HOSxP และเกิดความผิดพลาดในการรายงานผล LAB ซึ่งมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลในระบบ BMS-HOSxP  ทางบริษัทจึงได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยบริษัท LIS ต้องเปลี่ยนมาเชื่อมต่อข้อมูลผ่านโปรแกรม BMS-LIS Gateway เท่านั้น"   

เมื่อนโยบายบริษัทมีทิศทางชัดเจน จึงได้มีการเชิญตัวแทนของ LIS มาพูดคุยกัน แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรในช่วงแรกมากนัก ทางบริษัท BMS-HOSxp จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการล๊อคการแสดงผลในโปรแกรม HOSxP จนกว่าบริษัท LIS หรือ บริษัทน้ำยาจะทำการเปิดบิลถึงจะส่งตัวปลดล๊อคให้กับโรงพยาบาลต่างๆที่เป็นลูกค้าของ LIS

มาถึงตรงนี้ทุกท่านคงเข้าใจตามเงื่อนไขที่ BMS-HOSxPได้บอกไว้กันตั้งแต่ต้น เว้นแต่ว่าเราจะไปนึกทึกทัก คิดเองเออเองไปว่า HOSxP ต้องอย่างนั้น อย่างนี้ ตามความต้องการของผู้ใช้งานหรือบ่นเกี่ยวกับปัญหา Bugของโปรแกรม เพราะได้จ่ายเงินไปแล้ว ถ้าได้อ่านและทำความเข้าใจกับรายละเอียดข้างต้น ผมคิดว่าคงช่วยให้เราได้ตระหนักมากขึ้นว่า BMS เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่สามารถดำเนินนโยบายบริษัทตามความเหมาะสม และด้วยความเป็นบริษัทเอกชนย่อมมีวิถีการดำเนินงานที่แตกต่างจากภาครัฐ พวกเราเองต่างหากได้เลือกใช้บริการของ BMS-HOSxP โดยสมัครใจซึ่งก็ควรยอมรับ และปฏิบัติตามเงื่อนไขของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน..

เข้าใจ ใจเขา..และใจเรามากขึ้นนะครับ

.............................................................................................................................................................

เรียนรู้เพื่อเข้าใจ..บริษัทน้ำยา และ LIS

ผมเพิ่งมาสนใจเรื่องราวของห้องแล็บตอนที่มีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อนี้เอง ก่อนหน้านั้นแทบไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการติดต่อประสานงานกับบริษัทน้ำยาหรือ LIS โดยตรง ประมาณปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงแรกของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ที่ได้ใช้บริการของ LIS  ห้องแล็บได้สั่งเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ ซึ่งมีการน้ำเสนอจากบริษัทน้ำยาและแถมด้วยโปรโมชั่นการเชื่อมต่อ LIS ให้ ซึ่งแน่นอนครับว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ ช่วยลดภาระงานการลงผลซ้ำซ้อนได้มากทีเดียว และมีราคาที่โรงพยาบาลชุมชนพอสู้ไหว โดยบริษัทน้ำยาจะเป็นผู้ติดต่อจัดหาบริษัท LIS พร้อมติดตั้งใช้งานให้เรียบร้อย

ตอนนั้น HOSxP ยังเป็น Free software ที่อิสระเสรีจริงๆนะครับ LIS แต่ละบริษัทเมื่อรู้ว่าโรงพยาบาลต่างๆ ใช้ HIS อะไร บริษัทก็จะพัฒนา software เพื่อเชื่อมต่อระบบ LIS ของตนเองเพื่อเป็นบริการให้กับโรงพยาบาลที่เป็นลูกค้า แต่เนื่องจากว่าโรงพยาบาลที่ใช้ HOSxP มีทั้งที่ขึ้นระบบกับ BMS และขึ้นระบบด้วยตัวเองก็มีไม่น้อย ต้องยอมรับกันตรงๆละครับว่าด้วยอานิสงค์ของ HOSxP ที่มีโรงพยาบาลใช้จำนวนมาก ทำให้บริษัท LIS ไม่ต้องเสียค่าพัฒนา Software ไม่ต้องเสียค่าเชื่อมต่อรายปีเหมือนกับ HIS เจ้าอื่นๆ

ดังนั้นในช่วงแรกจึงไม่มีใครคิดหรอกครับว่าจะต้องเสีย (เพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปเสียให้ใคร)ทำให้ลดต้นทุนต่างๆได้มากส่งผลให้มีการใช้ LIS ในโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มมากขึ้น ด้วยราคาที่พอจ่ายไหว  ระบบคุณภาพงานของห้องแล็บได้มาตรฐาน โรงพยาบาลต่างๆก็ใช้กันมาแบบนี้แหละครับหลายปีทีเดียว ถามว่าตอนนั้นบริษัทน้ำยา และ LIS เขาสนใจ BMS ไหม๊ ผมว่าเขาแทบจะไม่สนใจที่จะไปติดต่ออะไรกันด้วยซ้ำ เพราะต่างคนก็ต่างทำธุรกิจและ BMS ก็ไม่ได้มีนโยบายเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ LIS  และ LIS ก็ไม่รู้จะไปติดต่ออะไรกับ BMS-HOSxP

เดือนตุลาคม ปี 2555 บริษัท BMS ได้เรียนเชิญบริษัท LIS มารับฟังนโยบายและวางแผนการเชื่อมต่อให้ BMS-Gateway ด้วยเหตุผลที่ว่าพบปัญหาความผิดพลาดของข้อมูลในบางโรงพยาบาล และอาจจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของ BMS ซึ่งเป็นเจ้าของ HOSxP  ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่ามีการพูดคุยตกลงกันอย่างไรในเบื้องต้น บริษัทน้ำยาและ LIS อาจจะงงๆด้วยซ้ำไปว่าทำไมต้องมา เพราะตัว HIS ที่โรงพยาบาลใช้งานเขาก็โหลดมาติดตั้งใช้งานกันเอง  LISบางบริษัทยังเข้าใจว่า HOSxP เป็นโปรแกรมของกระทรวงสาธารณสุขเพราะรู้กันว่าพัฒนาโดยเภสัชกร และมีการแจกจ่ายให้ใช้งานกันอย่างแพร่หลายจนไม่น่าจะใช้ ซอฟท์แวร์เชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทน้ำยาและ LIS ไม่ได้คิดจะต้องไปเข้าร่วมสนใจเข้าร่วมเจรจา  โดยเฉพาะการที่จะต้องถูกเรียกไปชี้แจงเพื่อเสียเงินให้กับ BMS ย้อนหลังสำหรับโรงพยาบาลที่ได้ใช้ระบบ LIS มาแล้ว

ที่น่าแปลกใจคือ BMS ได้เชิญบริษัท LIS มาพูดคุยนโยบายการเชื่อมต่อในเดือน ตุลาคม 2555 และได้ลดค่าใช้จ่ายการเชื่อมต่อโรงพยาบาลให้กับบริษัท LIS ที่ทำการเชื่อมต่อระบบก่อนวันที่ 30 กันยายน 2555 ที่ผมว่าแปลกคือ มันเป็นนโยบายที่ไปมีผลย้อนหลังกับสิ่งที่บริษัท LIS ได้ดำเนินการไปแล้ว  และคงไม่ได้มีบริษัทไหนคิดใช้จ่ายตรงนี้ไว้ล่วงหน้า ระบบการเงิน บัญชี เขาก็ปิดกันไปเรียบร้อยแล้ว บางบริษัทเป็นสาขาของบริษัทใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งเขาคงจะงงกันแย่ละครับ ที่จู่ๆ จะไปเสียเงินให้ BMS โดยบอกว่าเป็นค่าเชื่อมต่อ และคงมีคำถามว่า เฮ้! ยูทำงานกันยังงายยย ไอม่ายเข้าจายยย

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันอีกอย่างหนึ่งคือ บริษัท LIS ส่วนใหญ่รับงานให้กับบริษัทน้ำยาอีกที บางโรงพยาบาลก็มีมากกว่า 1 บริษัท และถ้าจะให้ LIS มาแบกรับค่าใช้จ่ายเพียงผู้เดียวก็คงกระไรอยู่   ในความเข้าใจของผมมีอย่างนี้นะครับ ถูกผิดคงต้องให้ผู้รู้มาชี้แนะอีกที..
  1. บริษัทน้ำยาเสนอขายผลิตภัณฑ์เครื่องตรวจวิเคราะห์+น้ำยา แถมโปรโมชั่น LIS ให้โรงพยาบาล
  2. โรงพยาบาลสนใจสั่งซื้อและให้ส่งใบเสนอราคามา
  3. บริษัทน้ำยา---->ติดต่อบริษัท LIS เพื่อขอใบเสนอราคาในส่วนของ LIS
  4. บริษัท LIS ส่งใบสั่งซื้อไปที่บริษัท HIS เพื่อขอใบเสนอราคาค่าเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล
  5. บริษัท HIS ส่งใบเสนอราคาให้บริษัท LIS ซึ่งก็จะเป็นราคาค่าเชื่อมต่อของ HIS+ค่าอุปกรณ์+ค่าแรงของ LIS ฯลฯ ----> ส่งไปที่บริษัทน้ำยา
  6. บริษัทน้ำยานำเสนอค่าใช้จ่าย ที่+ค่าใช้จ่ายของ LIS ---->เสนอไปที่โรงพยาบาล
  7. โรงพยาบาลสั่งซื้อ


กระบวนการมันก็คงมีประมาณนี้แหละครับ เมื่อสั่งซื้อเรียบร้อยก็จะเป็นการดำเนินการเข้าไปติดตั้ง ตรวจสอบ ตรวจรับ ต่างๆ ตามสัญญา ถ้า LIS เชื่อมข้อมูลเข้ากับ HIS ได้เรียบร้อยก็จบงานที่เหลือก็เป็นบริการหลังการขายเท่านั้นเอง.. ปัญหา คือ ที่ผ่านมา BMS-HOSxP ไม่ได้ประกาศบังคับว่าจะต้องมาติดต่อชำระค่าพัฒนาและค่าเชื่อมต่อ ขั้นตอนในส่วนนี้จึงไม่มี บริษัท LIS เขาจึงคิดเฉพาะค่าพัฒนา Software สำหรับเชื่อมต่อขึ้นมาเอง

ชีวิตมันก็ดำเนินกันไปแบบนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งนโยบาย BMS ขอคิดค่าเชื่อมต่อแบบย้อนหลัง ซึ่งก็เป็นอะไรที่แปลกอยู่นะครับ ผมมีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารหลายๆท่านได้เหตุผลคล้ายๆกันว่าเป็นนโยบายการทำธุรกิจทีผิดธรรมเนียม ด้วยเหตุผลดังนี้ครับ
  • ประการแรก บริษัท LIS ได้ทำตามสัญญาที่รับมาจากบริษัทน้ำยา บริษัทน้ำยาก็ดำเนินการส่งมอบงานให้โรงพยาบาลอย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว การที่ BMS จะให้บริษัท LIS เปิดบิลสั่งซื้อค่าเชื่อมต่อย้อนหลังเพื่อที่จะได้เก็บเรียกเงินจากบริษัท LIS ได้ จึงเป็นสิ่งที่ผิดวิสัยเพราะผลของนโยบายการเสียค่าเชื่อมต่อไม่ควรจะมีผลย้อนหลัง
  • ประการที่สอง ระบบบัญชีของแต่ละบริษัทหลังจากส่งมอบงาน จะมีการจัดทำรายงานปิดงบเงินในระบบบัญชีกันไปเรียบร้อยแล้ว การที่จู่ๆมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาแบบนี้ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากต้องไปอธิบาย ขยายความ ทำความเข้าใจกับผู้บริหาร กรรมการของบริษัท บริษัทเล็กๆก็คงไม่ยุ่งยากอะไร แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆซึ่งผู้บริหารเขาคงไม่มาสนใจติดตามข่าวข่าวสารในบอร์ด HOSxP คงไม่เข้าใจหรอกครับว่าทำไมที่ต้องจ่ายเงินให้ BMS จนกระทั่งมารู้ข่าวว่าโรงพยาบาลที่เป็นลูกค้าของบริษัท กำลังจะมีปัญหาถูกล๊อคการแสดงผล LAB ใน HOSxP  นั่นแหละครับ
  • ประการที่สาม เงินที่ BMS เรียกเก็บค่าพัฒนาและค่าเชื่อมต่อแม้จะไม่ใช่จำนวนมาก แต่เฉพาะค่าพัฒนาปีแรก 107,000 บาท ค่าเชื่อมต่อ โรงพยาบาลล่ะ 42,800 บาท ถ้าให้จ่ายครั้งเดียวบริษัทใหญ่เงินทุนเยอะคงไม่มีปัญหา แต่บริษัทเล็กๆอาจจะถึงขั้นเลือดออกท่วมตัวได้ ถึงแม้BMSจะให้ข้อเสนอว่าทยอยจ่ายหลังจากติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้ว แต่เปิดบิลไปครั้งเดียว สมมุติว่า 50 โรงพยาบาล คูณ 42,800 บาท แล้ว ทีมงาน BMS ติดตั้งได้เรียบร้อยตามกำหนด บริษัท LIS ก็ต้องหาเงินมาจ่ายเพราะงานมันเสร็จไปเรียบร้อยแล้วตามสัญญาการสั่งซื้อ เมื่องานเสร็จก็ต้องจ่ายหลายบริษัทก็อาจจะเกรงว่าจะจ่ายยังไงไหวถ้าออกใบสั่งซื้อไปครั้งเดียว
  • ประการที่สี่  LIS บริษัท รับงานมาจากบริษัทน้ำยาอีกที บางโรงพยาบาลก็มีการใช้บริการจากบริษัทน้ำยาหลายบริษัท จึงจำเป็นต้องติดต่อประสานงาน และขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำยาในการให้เข้ามาช่วยชำระค่าใช้จ่าย แต่การประสานงานตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บางบริษัทก็เข้าใจ บางบริษัทก็ยังงงๆ มันจึงเป็นปัญหาที่ยุ่งเหยิงพอสมควร
  • ประการที่ห้า การดำเนินการทางธุรกิจของ BMS ที่ใช้วิธีการโพสต์รายชื่อปัญหาแจ้งว่าโรงพยาบาลใดได้รับตัวปลดล๊อค โรงพยาบาลใดไม่ได้ และเขียนโพสต์ข้อความที่พยายามชี้แจงไปในแนวทางที่ว่าปัญหาต่างๆที่ล่าช้าเกิดจาก LIS และบริษัทน้ำยา ที่ไม่ยอมดำเนินการ (ทั้งๆที่การล๊อคผลแล็บเกิดจาก BMS เป็นผู้ล๊อค) ในทางการทำธุรกิจร่วมกันวิธีแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะเป็นการตำหนิบริษัทอื่นๆรวมถึงการประกาศว่าจะทำ Black list แถมยังแนะนำให้โรงพยาบาลเปลี่ยนบริษัทน้ำยาหรือ LIS โดย BMS ยินดีจะจัดหาบริษัทให้ หรือแม้กระทั่งประกาศว่าจะไม่ให้โรงพยาบาลต้องจ่าย เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นส่วนของ LIS หรือบริษัทน้ำยาต้องรับผิดชอบ (ฺในขณะที่ BMS ขอเรียกเก็บเงินจากบริษัทน้ำยา/LIS ย้อนหลังได้ แต่กลับประกาศล่วงหน้าที่จะไม่ยอมให้บริษัทเหล่านี้ไปเรียกค่าใช้จ่ายเพิ่มกับทางโรงพยาบาลเพิ่ม..) 
ปัญหาความล่าช้าของบริษัท LIS และบริษัทน้ำยาจึงเป็นอะไรที่ค่าราคาซัง หลายโรงพยาบาลได้รับผลกระทบจากการล๊อคการแสดงผลแล็บของ BMS ในโปรแกรม HOSxP ทำให้ออกอาการเซ็งเป็ดไปตามๆกัน ผู้บริหาร ผู้ดูแลระบบหลายท่านเดิมทีไม่เข้าใจว่าทำไม LIS ไมยอมจ่าย ทำไม LIS ทำอะไรล่าช้า ทำให้โรงพยาบาลมีปัญหาฯลฯ มาถึงตรงนี้แล้วท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกันบ้างครับ

เข้าใจ ใจเขา..และใจเรามากขึ้นนะครับ

.............................................................................................................................................................

เรียนรู้เพื่อเข้าใจ..โรงพยาบาล

ในส่วนผมที่รับผิดชอบดูแลงานระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลเรื่องนโยบายการเชื่อมต่อ LIS ของบริษัท  BMS ที่จะพัฒนามาตรฐานข้อมูลในส่วนนี้ของ HOSxP โดยจะไม่ให้เชื่อมต่อตรงกับฐานข้อมูลต้องผ่าน BMS Gateway เท่านั้น

"เพื่อแก้ปัญหานี้ ผมจึงต้องเปลี่ยนนโยบายในการเชื่อมต่อกับ LIS ใหม่ครับ คือบังคับให้เชื่อมต่อผ่าน BMS-LIS Gateway ทุกบริษัท เนื่องจากปัญหานี้มีผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลในระบบเป็นอย่างมาก โดยใน HOSxP 3.55.9.x เป็นต้นไปจะมีการตรวจสอบ key ของ record (ในตาราง lab_order.check_key) ว่าถูกบันทึกจาก HOSxP หรือจากตัว Gateway หรือไม่ ถ้ามีค่าที่ไม่ถูกต้องโปรแกรมจะถือว่าเป็นผล Lab ที่ไม่ถูกต้องนะครับ 

ฝาก รพ. ที่ได้เชื่อมต่อกับ LIS โดยไม่ผ่านตัว Gateway ให้แจ้ง บริษัท LIS ให้ติดต่อไปที่ BMS เพื่อทำการเชื่อมต่อกับระบบ LIS Gateway ด้วยนะครับ "  อ.ชัยพร  3 กันยายน 2012



โพสต์แจ้งข่าวครั้งแรก อ.ชัยพรแจ้งผ่านเวปบอร์ดของ HOSxP ฝากให้รพ.ต่างๆ ที่ได้เชื่อมผ่าน LIS ประเด็นที่ผมอยากเรียนให้ทุกท่านเข้าใจก็คือ อย่างแรก Admin โรงพยาบาลไม่ได้เขาไปอ่านข้อมูลในเวปบอร์ดทุกวัน และบางคนก็เป็น Admin มือใหม่ ไม่รู้จักกับ LIS ด้วยซ้ำไปว่าใช้หรือไม่ใช้อย่างไร บางโรงพยาบาล LIS เข้ามาเมื่อไหร่ยังก็ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ควรใช้การประสานงานเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ใช่ใช้เวทีการแจ้งผ่านเวปบอร์ด

หลังจากทราบข่าว Admin หลายท่านเห็นด้วยและสนับสนุนการเชื่อมต่อที่ควรทำให้ถูกต้อง บางท่านยังแนะนำให้ส่งหนังสือชี้แจงเป็นทางการ เพราะกังวลว่าจะเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์จากคนบางกลุ่ม และเชื่อว่ายังไง LIS คงต้องมาเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นจากทางโรงพยาบาลอยู่ดี ในช่วงแรกมีกระแสข่าวว่า LIS โดน BMS เรียกเก็บเงินจำนวนไม่น้อย ได้ก็ได้รับการชี้แจงรวมถึงเปิดเผยรายละเอียดเงินที่ทาง BMS เรียกเก็บอย่างชัดเจน ผู้ดูแลระบบของโรงพยาบาลแต่ละแห่งเริมสนใจติดตามข้อมูลกันมากขึ้นเพราะ อ.ชัยพร ยืนยันผ่านเวปบอร์ดว่าเงินในส่วนนี้เป็นส่วนที่ LIS ต้องรับผิดชอบ 

" ผมฝากอีกนิดครับ หากมี LIS บริษัทไหน แจ้งกับ รพ. มาแบบที่เป็นปัญหานี้ในเหตุผลที่ผลักภาระไปให้ รพ. สามารถแจ้งไปที่ BMS ได้ครับ เราจะ Black list บริษัทเหล่านี้เอาไว้ครับ ผมมองว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นส่วนที่บริษัท LIS ต้องรับผิดชอบครับ ไม่ควรผลักภาระนี้ไปให้กับ รพ. "
อ.ชัยพร : 5 กันยายน 2012

ครั้งแรกผมเองก็อุ่นใจครับเมื่อได้รับทราบข้อมูลที่ อ.ชัยพรและ BMS ได้แสดงความห่วงใยโรงพยาบาลต่างๆ และไม่อยากให้ค่าใช้จ่ายตรงนี้เป็นภาระโรงพยาบาล พร้อมทั้งรับประกันอย่างมั่้นใจโดยจะใช้มาตรการ Black list บริษัทที่มีปัญหา โดยยืนยันในมุมมองของ อ.ชัยพรว่า เงินส่วนนี้ LIS ไม่ควรผลักภาระไปให้กับโรงพยาบาล  ผมก็รับรู้ว่านี่คงเป็นเรื่องของ BMS และ LIS ที่ต้องไปเจรจาหาทางออกร่วมกันเอง แต่หวยกลับมาออกที่โรงพยาบาลเต็มๆครับเนื่องจาก BMS ล๊อคการแสดงผลแล็บ โดยที่ผู้ดูแลเริ่มงงๆว่าไหนว่าจะไม่มีผลกระทบกับทางโรงพยาบาล จนบางท่านได้เสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ผ่านในเวปบอร์ดว่า

ขอแสดงความเห็น หน่อยนะครับ  จริงๆผมจะขอความกรุณา อ.MN  พิจารณาเรื่องการใช้วิธี Lock แบบนี้ และขอให้ใช้แบบเดิมไปก่อน  ช่วงนี้หลายๆที่ก็ยังมีปัญหาอยู่ และในการพัฒนา 43 แฟ้ม ต้องมีการปรับใช้หน้าต่างใหม่ๆที่มากับ version ใหม่ด้วย ....   การบังคับแบบนี้ผมว่า มันไม่ค่อยจะยุติธรรม กับ รพ นะครับ .... ปัญหาอยู่ที่ LIS นะครับ ไม่ได้ อยู่ที่ รพ. สำหรับ รพ. ที่ activate แล้วก็น่าที่จะ UP ได้ ตามปรกติ ....เห็นใจ admin ด้วยนะครับ  เพราะต้องดูแลทุกๆเรื่อง ...และต้องขอฝากให้ BMS ช่วยติดตาม บ LIS ด้วยครับ .........รบกวน อ. และทีมงานด้วยครับ   

nuttavut : 27 กุมภาพ้นธ์  2013


แต่ดูเหมือนว่าคำร้องขอจะไม่ได้รับการตอบสนองครับ รอบแรกโรงพยาบาลได้รับการบรรเทาปัญหาตัวปลดล๊อคชั่วคราวมาให้แก้ขัด แต่รอบสอง  ไม่มีการส่งตัวปลดล๊อคให้หา LIS หรือบริษัทน้ำยายังไม่ติดต่อส่งเอกสารมาให้เรียบร้อย  ส่งผลให้หลายๆโรงพยาบาลต้องพบกับปัญหา LIS ERROR

ผมเองยังนึกว่าในระหว่างการเจรจาระหว่าง BMS และ LIS หรือกับบริษัทน้ำยา โรงพยาบาลที่เป็นลูกค้าของบริษัทที่ยังไม่เข้ามาติดต่อ จะได้รับความกรุณาปราณีส่งตัวปลดล๊อคให้ชั่วคราวเช่นเคย แต่ครั้งนี้ไม่มีครับ การสอบถามไปยังเวปบอร์ดได้รับคำตอบสั้นๆ ว่ายังไม่ได้รับการประสาน ยังไ่ม่ได้รับการประสาน ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป จนต้องแจ้งให้ทาง BMS ส่งใบเสนอราคาเรียกเก็บมาที่โรงพยาบาลโดยตรงได้เลยเพื่อที่จะได้จบปัญหาตรงนี้ไปเสียที แต่บริษัทน้ำยาก็แจ้งกลับมาว่าจะดำเนินการให้โรงพยาบาลไม่ต้องจ่าย ซึ่งก็เฉียดกำหนดวันสุดท้ายไปเพียงแค่ 1 วัน

คำแนะนำที่ดีมากสำหรับ BMS ที่ส่งหนังสือมาให้โรงพยาบาล คือ ให้ใช้การบันทึกผลแบบเก่าไปก่อน สองให้ชะลอการอัพเวอร์ชั่น สามเปลี่ยนบริษัทที่มีปัญหา ผมอ่านแล้วก็ฮากลิ้งเลยครับ เพราะเพิ่งรู้ว่าวงการธุรกิจเขาทำกันแบบนี้เองหรือนี่..  เหมือนเด็กเล่นขายของที่พอไม่ได้ดังใจก็ตัดรอนสัมพันธ์กันดื้อๆ

วิธีแก้ปัญหาที่แนะนำมาให้กับทางโรงพยาบาล บ่องตง ไม่ได้ช่วยอะไรเลยครับ คนไข้แต่ละวันซึ่งมีจำนวนมากขึ้น ผลการตรวจด้วยเครื่องตรวจวิเคราะห์และเชื่อมต่อผ่าน LIS เข้าโปรแกรม HOSxP ช่วยให้การตรวจของแพทย์ได้รับรายงานผลเร็วขึ้น และแน่นอนครับช่วยให้คนไข้ไม่ต้องรอรับบริการนานๆ ซึ่งหากไม่ได้ตัวปลดล๊อค คนไข้คือ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบไปเต็มๆ.. 

และที่แนะนำให้เปลี่ยนบริษัทน้ำยาขอโทษเถอะนะครับเขาไม่รู้จริงๆหรือว่าแกล้งไม่รู้ เคยเห็นเครื่องไม้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์ของบริษัทน้ำยากันใช่ไหม๊ครับ อุปกรณ์พวกนี้ไม่ใช่ว่านึกอยากจะเอาเข้าเอาออกก็ทำกันง่ายๆเหมือนย้ายสิ่งของอื่นๆ บางโรงพยาบาลห้องแล็บอยู่ชั้นสองเขาต้องทุบผนัง และใช้รถเครนยกขึ้นไป ระบบพวกนี้กว่าจะติดตั้งใช้งานกันได้ต้องใช้เวลาครับ ในขณะที่โรงพยาบาลก็ต้องให้บริการทุกวัน 

เรื่องนี้มันมีฉากที่ต้องให้โรงพยาบาลเข้าไปเกี่ยวก้อยด้วยเต็มๆแหละครับ BMS เรียกเก็บย้อนหลังกับ LIS หรือบริษัทน้ำยาได้ แต่กลับจะให้ LIS ห้ามผลักภาระไปที่โรงพยาบาล เหมือนจะดูดีนะครับ ว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายโรงพยาบาลได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ข้อเท็จจริงแล้วโรงพยาบาลได้รับผลกระทบกันไปเต็มๆ ในส่วนของภาระค่าใช้จ่ายเชื่อเถอะครับว่าไม่พ้นที่บริษัทน้ำยาต้องขอบวกเพิ่มกับโรงพยาบาลในปีต่อๆไปอยู่ดี..

ยิ่งตอนนี้ท่านผู้ตรวจราชการมีการติดตามเรื่องค่าใช้จ่ายของห้องแล็บ และขอดูเปรียบเทียบกันแต่ละโรงพยาบาล และอยากให้ราคาการจัดซื้อน้ำยาลดลงอีกด้วย..

เข้าใจ ใจเขา..และใจเรามากขึ้นไหม๊ครับ

.............................................................................................................................................................

หาทางออกร่วมกัน

ผมติดตามอ่านโพสต์แจ้งรายชื่อโรงพยาบาลที่ได้รับการวางแผนติดตั้งระบบเชื่อมต่อ แต่ไม่มีชื่อโรงพยาบาลผมสักครั้ง จนรู้สึกอึดอัดและสงสัยว่าทำไมบริษัท LIS ไม่ยอมรีบดำเนินการและพัฒนากลายเป็นความไม่พอใจเล็กๆ จนกระทั่งได้รับคำอธิบายอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน และเป็นที่มาของบทความ "ถ้าอยากมองป่าทั้งป่า อย่ามองผ่านแมกไม้ " ถึง 4 ตอน

ในวันที่ 5 มิถุนายน 2556 นี้ จะมีการพูดคุยร่วมกันทั้ง BMS LIS บริษัทน้ำยา และตัวแทนจากทางโรงพยาบาล เพื่อจะไปพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ที่บริษัท BMS ซึ่งผมการวางกรอบการเจรจาคร่าวๆกันไว้ดังนี้ครับ

  1. เรื่องเหตุผลในการเชื่อมต่อผ่าน BMS Gateway ถ้าทั้ง 3 ่ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นธรรมเนียมการปฏิบัติระหว่าง HIS และ LIS  จะเป็นต้องเชื่อมต่อให้ถูกต้อง ก็คงจะข้ามไปคุยกันในหัวข้อที่ 2
  2. เรื่องค่าใช้จ่าย ในการพัฒนา software และค่าเชื่อมต่อกับ BMS-Gateway ในห้วข้อนี้ก็คงต้องพิจารณามากหน่อยครับ โดยแบ่งออกเป็นประเด็นย่อยๆ ดังนี้ครับ
    • เรื่องความเหมาะสมของราคา
    • ใครควรจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้บ้าง และรับผิดชอบกันคนกันอย่างไร รับผิดชอบคนละเท่าไหร่ ระหว่าง LIS บริษัทน้ำยา  และโรงพยาบาล
      ในเรื่องนี้หาเห็นด้วยร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ว่าราคาค่าพัฒนา software และค่าเชื่อมต่อระบบมีความเหมาะสม ก็จะคุยกันต่อในข้อที่ 3
  3. เงื่อนไขในการชำระเงิน ที่เหมาะสม พึงพอใจทั้งในส่วนของ BMS LIS และบริษัทน้ำยา
  4. การดำเนินงานต่อไป หากมีกรณีบริษัทน้ำยาหรือบริษัท LIS ไม่ให้ความร่วมมือในการชำระเงินค่าเชื่อมต่อให้เรียบร้อย
  5. ปัญหา BMS Gateway ที่ยังไม่เสถียรทำให้เกิดปัญหาในโรงพยาบาลบางแห่ง และการแก้ไขกรณีเกิดปัญหา 
  6. การทบทวนมาตรการล๊อคการแสดงผลแล็บ ถ้ากรณีข้อตกลง 1-5 ตกลงกันได้เรียบร้อย ควรมีการทบทวนในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลที่ยังอยู่ในระหว่างการประสานเกิดปัญหา

โดยเป้าหมายร่วมกันน่าจะอยู่ที่
  • BMS-HOSxP สามารถดำเนินรักษามาตรฐานการตามนโยบายที่ต้องการให้เชื่อมต่อข้อมูล LIS ไปยัง BMS-Gatewayทุกบริษัท ด้วยเหตุผลเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลในระบบของโปรแกรม HOSxP 
  • บริษัทน้ำยา และบริษัท LIS ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่ต้องทำธุรกิจร่วมกันกับ BMS-HOSxP  และต้องเสียค่าบริการในการพัฒนาโปรแกรม และค่าเชื่อมต่อ เข้าใจในนโยบาย ยินดีจ่ายค่าพัฒนา ค่าเชื่อมต่อ และสามารถจ่ายได้โดยให้มีผลกระทบกับการประกอบการของบริษัทน้อยที่สุด
  • โรงพยาบาลซึ่งเป็นลูกค้าทั้งของ BMS-HOSxP ,บริษัทน้ำยา และ LIS ไม่เดือดร้อน ไม่ควรต้องมาร้องขอการปลดล๊อค หรือได้รับผลกระทบจากปัญหา BMS Gateway ที่ยังไม่เสถียร
  • ทุกฝ่ายกลับมามีความสุขในการใช้งาน HOSxP อีกครั้ง






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น