วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กรุณา อ่านให้จบ...

22.00 น. รถทัวร์ ภูเรือ-กรุงเทพฯ

รถทัวร์สาย ภูเรือ-กรุงเทพฯ จอดรอรับผู้โดยสาร เลขที่นั่ง 2D ชิดริมหน้าต่างคือที่นั่งของผม จุดหมายปลายทางคือ สถานีขนส่งหมอชิต กรุงเทพเมืองฟ้าอมรฯ..   หลังจากพนักงานต้อนรับแจกขนมปังและน้ำดื่มเสร็จสรรพเรียบร้อย แสงไฟภายในตัวรถเริ่มมืดมิด ผมไม่เข้าใจเลยว่าเขาจะแจกขนมทำไมตอนสี่ทุ่ม แจกแล้วดันปิดไฟ จะให้ผมกินยังไงไม่ทราบ..

กว่า 6 ชั่วโมงในการเดินทาง ผมหลับๆ ตื่นๆ และเบลอๆ เพราะที่นั่งบนรถทัวร์ไม่ใช่เตียงขนาด 6 ฟุตที่จะนอนได้สบายนัก หวังว่าผมคงไม่กรนจนรบกวนผู้โดยสารคนที่นั่งข้างๆ  และหวังยิ่งกว่านั่นคือการเดินทางไปกลับอย่างปลอดภัย สาธุ๊...

05.00 น. หมอชิต 2
เสียงพนักงานประกาศแจ้งเตือนว่ารถใกล้ถึงจุดหมายปลายทางให้สำรวจสัมภาระ ผมตรวจดูกระเป่าสตางค์ แว่นตา โทรศัพท์ ทุกอย่างยังอยู่ครบ จึงรีบลงจากรถโดยไม่ลังเลเพื่อเดินทางเข้าที่พักหวังว่าจะได้หลับอีกซักงีบจริงๆก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมสำคัญในนามตัวแทน(จำเป็น)ของโรงพยาบาล กับสมาชิกอีก 4 ท่าน..

09.00 น. มุ่งสู่ บริษัทบางกอกเมดิคอลซอฟท์แวร์ 
ไม่เกี่ยวกับฤกษ์ยาม แต่เกี่ยวกับเวลานัดหมาย เก้าโมงกว่าๆ ตัวแทนจากโรงพยาบาล บริษัทน้ำยา และบริษัท LIS พร้อมกันที่ห้องประชุมของบริษัท BMS ตอนที่ผมเดินทางไปถึงอาจารย์ชัยพรนั่งรอทุกคนอยู่ก่อนหน้าแล้ว พวกเรารอกันอีกพักใหญ่ๆ ก่อนที่จะเริ่มแนะนำตัวกันอย่างเป็นทางการและเริ่มการเจรจา.. ซึ่งเป็นการเจรจาที่ยากที่จะหาข้อยุติ เพราะฝ่ายต่างคงมีธงตั้งไว้อยู่ในใจกันเรียบร้อยแล้ว
  • บริษัท BMS คงอยากให้ LIS เชื่อมต่อผ่าน BMS gateway ให้ทุกโรงพยาบาลโดยเร็ว และรีบติดต่อเพื่อวางแผนการติดตั้งระบบ 
  • บริษัท LIS และบริษัทน้ำยา คงอยากแก้ปัญหาเรื่องการชำระค่าเชื่อมต่อย้อนหลังสำหรับโรงพยาบาลที่ติดตั้งระบบ LISไปแล้ว ทั้งอยากจ่ายให้น้อย หรือยืดระยะเวลาในการจ่ายออกไป หรือถ้าเป็นไปได้ไม่จ่ายเลยได้คงจะดี 
  • โรงพยาบาล ไม่อยากจ่ายเงิน และไม่อยากให้ล๊อคการแสดงผล Lab 
เมื่อสร้างดาวในฝันกันคนละดวง แค่นึกก็หนักใจแล้วนะครับว่าจะคุยกันยังไง ถึงจะบรรลุเป้าหมายร่วมกันทุกฝ่าย แต่ก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของการสนทนา ผมมีข้อมูลที่ต้องทำความเข้าใจกับทุกท่านกันอีกครั้งดังนี้ครับ

..................................................................................................................................................................
1.การรายงานผลแล็บและ LIS


รูปที่ 1 กรณีโรงพยาบาลที่ยังไม่ใช้ LIS

โรงพยาบาลที่ยังไม่ใช้ LIS การรายงานผลตรวจแล็บจากเครื่องตรวจวิเคราะห์ คงใช้วิธีแบบเก่า คือ พิมพ์รายงานผลจากเครื่องตรวจออกมา แล้วนำผลมาบันทึกในโปรแกรม HOSxPเสร็จแล้วยืนยันผลเข้าไป แค่นี้แพทย์สามารถดูผลแล็บผ่านโปรแกรม HOSxP ได้ทันที แต่วิธีแบบนี้ในมาตรฐาน LA เขาบอกว่า แหมมันอาจจะมี error จากคนคีย์ข้อมูลได้ แถมยังเป็นภาระงานอันหนักหน่วงของเจ้าหน้าที่ห้องแล็บ อย่ากระนั้นเลย ควรจะมีระบบ LIS  ที่สามารถนำผลจากเครื่องตรวจวิเคราะห์ส่งตรงไปยัง HIS ได้เลยโดยที่ไม่ต้องมาคีย์ผลกันให้เมื่อยมือกันอีกต่อไป จึงเป็นที่มาของการติดตั้งระบบ LIS


รูปที่ 2 โรงพยาบาลที่มีระบบ LIS

บริษัท LIS มีทั้งเป็นบริษัทเอกเทศ และเป็นบริษัทลูกของบริษัทน้ำยา บริษัทกลุ่มนี้เขาจะพัฒนาโปรแกรมที่เชื่อมต่อจากเครื่องตรวจวิเคราะห์ และแปลผลออกมาเพื่อส่งเข้าไปในฐานข้อมูลของ HOSxP โดยตรง  ซึ่งหากโรงพยาบาลต้องการติดตั้งระบบ LIS จะต้องติดต่อบริษัทเหล่านี้มาทำการเชื่อมต่อระบบโดยเขาก็จะคิดค่าค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่แล้ว แต่ในช่วงหลังๆ LIS กลายเป็นโปรโมชั่นในการนำเสนอให้กับโรงพยาบาลต่างๆ โดยบริษัทน้ำยาเขาจะมีระบบ LIS ให้พร้อมเลย ซึ่งบริษัท LIS เขาจะเสนอราคาให้บริษัทน้ำยา ประมาณนี้ครับ
  • ค่า Hardware (ถ้ามี)
  • ค่าเชื่อมต่อกับ HIS (ถ้ามี)
  • ค่าแรงงาน แรงใจ..
เมื่ือบริษัท LISเสนอค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปที่บริษัทน้ำยา บริษัทน้ำยาก็นำไปบวกลบคูณหาร และยื่นซองเสนอราคา เมื่อโรงพยาบาลเปิดซองประกวดราคาได้บริษัทน้ำยาเรียบร้อย ก็ไม่ต้องมาปวดหัววุ่นวายกับการไปติดต่อจ้างบริษัท LIS ถ้าคิดแบบเข้าใจกันง่ายๆ ค่าใช้ในส่วนของค่าเชื่อมต่อระบบกับ HIS คือเงินโรงพยาบาลทั้งนั้นแหละครับ เพียงแต่บริษัทน้ำยาเขาอำนวยความสะดวกให้ในชื่อที่เรียกกันว่า "โปรโมชั่น" และก็รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จมาในข้อเสนอตอนยื่นซองประกวดราคาเรียบร้อยแล้ว

แต่วิธีการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของบริษัท LIS ที่ผ่านมา เชื่อมต่อโดยตรงกับฐานข้อมูลของ HOSxP ซึ่งวิธีการเชื่อมต่อแบบนี้ อ.ชัยพรเป็นห่วงอย่างมาก เพราะอาจจะทำให้เกิดผลแล็บผิดพลาดแล้วกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตในภายหลังได้ จึงขอร้องแกมบังคับให้ใช้การเชื่อมต่อผ่านตัว BMS-Gateway ทุกโรงพยาบาล  โดยในเบื้องต้นได้ติดต่อประสานงานกับบริษัท LIS แต่ต่อมาทราบว่ามีบริษัทน้ำยาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดีมาก มาฟังคำชี้แจงกันไม่กี่แห่ง  และไม่ความคืบหน้ามากนักจากทาง LIS และบริษัทน้ำยาบางแห่ง  HOSxP เวอร์ชั่นเดือนกุมภาพันธ์ จึงวางมาตรการอารยะขัดแข็งโดยการปิดบังการแสดงผลแล็บ  เพื่อป้องกันไม่ให้แพทย์เห็นผลแล็บที่อาจจะผิดพลาดได้  จากการเชื่อมต่อโดยตรงที่ฐานข้อมูล  แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถลงบันทึกผลแล็บตามปกติในแบบเดิมได้ เพียงแต่โรงพยาบาลต่างๆ คงไม่สะดวกและไม่อยากกลับไปทำแบบเดิม


รูปที่ 3 โรงพยาบาลที่มีระบบ LIS และถูกบล็อคการแสดงผล Lab

ถ้าดูจากภาพคงพอเข้าใจนะครับว่า มาตรการล๊อคการแสดงผลนั้นทำเพียงเพื่อไม่ให้แพทย์ดูผลจาก HOSxPเท่านั้น   เพราะว่าจากการเชื่อมต่อโดยตรงของ LIS ผลอาจจะผิดพลาดได้ และเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยหากไม่แก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นหลักที่สำคัญ ที่ทาง อ.ชัยพรเป็นห่วง

..................................................................................................................................................................
2.ค่าเชื่อมต่อระบบของโรงพยาบาล

 ค่าเชื่อมต่อระบบสำหรับโรงพยาบาลต่างๆ ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่จะเริ่มใช้ LISใหม่ๆหรือหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ไม่ต้องห่วงครับว่าโรงพยาบาลจะไม่ได้จ่าย และอย่าคิดว่าบริษัทน้ำยาจ่ายให้ฟรี เพราะที่จริงแล้วก่อนที่บริษัทน้ำยาจะเสนอราคาให้โรงพยาบาล เขาจะต้องติดต่อขอราคาจากบริษัท LIS และบริษัท LIS ก็ต้องขอใบเสนอราคากับบริษัท BMS โดยสรุปแล้วก็เป็นเงินของโรงพยาบาลนั่นแหละครับที่จ่าย เพราะทั้งหมดเป็นต้นทุนที่บริษัทน้ำยาต้องนำไปบวกรวมแล้วมาคำนวนเพื่อคิดกำไรก่อนจะยื่นซองเสนอราคา เพียงแต่ทำรวมกันทั้งหมดเพื่อที่โรงพยาบาลไม่ต้องมาวุ่นวายจัดซื้อจัดจ้างกับระบบ LIS ต่างหาก

ส่วนค่าเชื่อมต่อระบบสำหรับโรงพยาบาลที่ใช้ระบบ LISก่อนหน้านี้แล้ว บริษัท BMSเหมาจ่ายในราคา 42,800บาท/โรงพยาบาล ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก  เพราะไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกล ได้ราคาเดียวกันหมด โดยค่าใช้จ่ายตรงนี้ เป็นค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าเบื้ยเลี้ยงของพนักงานบริษัท BMS ที่มาดำเนินการติดตั้งให้ ส่วนที่เหลือก็เป็นรายรับให้บริษัท BMS

ผมอยากให้ยอมรับความจริงกันนะครับว่า"ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ยังไงเป็นเงินโรงพยาบาลที่ต้องจ่าย " เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้จ่ายเพราะมันไม่ได้ถูกคิดบวกรวมไว้ แต่ตอนนี้เมื่อจำเป็นต้องจ่ายย้อนหลังก็คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับให้พนักงานของ BMS ที่ออกติดตั้งระบบให้เท่านั้นเอง และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่โรงพยาบาลควรจะต้องยอมจ่าย เพื่อที่จะให้ได้คุณภาพของข้อมูลที่ถูกต้อง

..............................................................................................................................................................

สรุปผลจากการประชุม

ที่จริงผมอยากถอดทุกคำพูด ของทุกท่านออกมาให้อ่านกันอย่างจุใจ แต่ด้วยเวลากว่า 3ชั่้วโมงของการพูดคุยกัน เอาเป็นว่าผมว่าผมรวบรัดให้อ่านก็แล้วกันสรุปใจความสำคัญกัน ว่ากันตามแนวทางในการเจรจา ดังนี้ครับ
  1. เรื่องเหตุผลในการเชื่อมต่อผ่าน BMS Gateway อาจารย์ชัยพรได้อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องมีการเชื่่อมต่อผ่าน Gatewayตรงนี้สำคัญมากนะครับอยากให้พวกเราทุกคนเข้าใจ คือ โดยปกติถ้ามาตรฐานของ HIS ทั่วๆไปการเชื่อมต่อข้อมูลไปยัง Database โดยตรงเขาจะไม่ทำกัน ถ้าเป็น LIS ของบริษัทต่างประเทศซึ่งมีประมาณ 30% มีการติดต่อกับผู้พัฒนาคือ BMS  และขอเชื่อมต่ออย่างถูกต้อง แต่บริษัท LIS ในเมืองไทยซึ่งมีประมาณ 70% ใช้วิธีการเชื่อมต่อโดยตรง ส่วนหนึ่งก็ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลงด้วย แต่สิ่งที่ อ.ชัยพรเป็นห่วง คือการเชื่อมต่อโดยตรงแบบนี้ อาจจะทำให้รายงานผลแล็บที่ส่งเข้าไปในโปรแกรม HOSxP เพื่อให้แพทย์ ดูผลประกอบการวินิจฉัยการรักษานั้น อาจจะผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ซีเรียสมากหากผิดพลาด และเป็นการผิดพลาดที่มาจากโปรแกรม HOSxP ในฐานะที่เป็นผู้พัฒนาและ BMS เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงไม่อาจยอมได้เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัท 
    • ในประเด็นนี้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันครับว่าต้องมีการเชื่อมต่ออย่างถูกต้องผ่าน BMS Gateway  โดยไม่มีใครโต้แย้ง
  2. เรื่องค่าใช้จ่าย สำหรับการเชื่อมต่อระบบ BMS Gateway แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
    1. ค่าพัฒนา Software BMS Gateway ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท LIS โดยตรงที่จะต้องจ้างบริษัท BMS พัฒนาโปรแกรมเชื่อมต่อกับของบริษัท LIS โดยจ่ายปีแรก 107,000 บาท /บริษัท จ่ายปีแรกครั้งเดียว ส่วนปีต่อไปหากมีการแก้ไขปรับปรุงโดยเกิดจากบริษัท LIS ก็จะต้องเสียเพิ่มภายหลัง 
      • ค่าใช้จายในส่วนนี้เป็นของ บริษัท LIS ล้านเปอร์เซนต์ครับ และเป็นการใช้จ่ายที่ต้องเสียค่าพัฒนาโปรแกรมสำหรับเชื่อมต่อให้ถูกต้อง ข้อนี้ก็ไม่มีปัญหาครับ
    2. ค่าเชื่อมต่อ BMS-Gateway ของแต่ละโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ อาจารย์ชัยพรได้ให้รายละเอียดว่าเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการให้พนักงานของ BMS ออกไปติดตั้ง ตรวจสอบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง ของพนักงาน  ค่าเชื่อมต่อตรงนี้เดิมทีคิดว่าคุยกับบริษัท LIS ก็น่าจะจบ แต่เอาเข้าจริงๆเป็นประเด็นธุรกิจ เพราะบริษัท LIS รับงานต่อจากบริษัทน้ำยาอีกที และรวมๆกันแล้วก็เป็นเงินจำนวนมาก ถึงตอนที่จะจ่ายเงินเลยกลายเป็นประเด็นว่าใครจะจ่าย จ่ายเท่าไหร่ บางบริษัทตกลงกันยังไม่ได้ หรือบางบริษัทก็ตกลงยอมจ่ายกันอย่างจำใจเพื่อไม่ให้โรงพยาบาลต้องเดือนร้อน
    3. ค่าพัฒนาปรับปรุง กรณีที่มีการปรับเปลี่ยน แก้ไขในปีต่อไป ซึ่งทาง LIS และ โรงพยาบาลจะต่อสัญญาหรือไม่ก็ได้ไม่ได้บังคับ
      สรุปแล้วเรื่องนี้จบไม่ลง ปลงไม่เป็นกันครับ ยังหาข้อลงตัวที่โดนใจทุกฝ่ายไม่ได้ มีแต่มาตรการเบื้องต้นสำหรับบริษัทน้ำยากับ BMS คือ การเข้าไปพูดคุยการทำแผนทำงานและการชำระเงินที่ยืดหยุ่นกันได้ ประเด็นในข้อสอง เป็นเรื่องที่พูดคุยกันนานมากโดยเฉพาะในส่วนค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อกับ BMS-Gateway  มีทั้งเสนอให้ผ่อนชำระรายเดือน จ่ายเป็นค่าลิขสิทธิ์รายบริษัท ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอีกมากมายครับ และต่างก็อยู่ในจุดยืนของตัวเอง  แต่ก็ได้เห็นปัญหาร่วมกันครับ เพราะในโรงพยาบาลหนึ่งๆ มีบริษัทน้ำยาหลายบริษัทที่ใช้บริการอยู่ แต่ละบริษัทก็มีข้อจำกัดของตัวเอง โดยรวมแล้วยุ่งยากหากนั่งเจรจากันอยู่อย่างนี้  วิถีทางทางออกน่าจะอยู่ที่โรงพยาบาลครับ เพราะดูจะมีอำนาจต่อรองกับบริษัทน้ำยาได้และจบปัญหาทุกอย่างง่ายที่สุด แต่ก็ยังมีปัญหาว่าโรงพยาบาลต่างๆจะยอมกันหรือไม่
  3. เรื่องการทบทวนมาตรการล๊อคการแสดงผลแล็บ  เมื่อการเจรจายังหาข้อยุติลงโดยรวมไม่ได้แต่ละฝ่ายคงต้องกลับไปคิดและปรึกษาหารือกันก่อน อาจารย์ชัยพรจึงตัดสินใจยกเลิกมาตรการ LIS-ERROR โดยจะมีผลในเวอร์ชั่นที่จะออกใหม่ และคงมาตรการนี้ไปอีกจนถึงสิ้นปี ซึ่งหมายความในปี 2557 หากยังตกลงกันไม่ได้และยังไม่ดำเนินการใดๆก็จะไม่มีการพูดคุยกันอีกแล้ว และทาง BMS จำเป็นที่จะต้องล๊อคการแสดงผลแล็บจริงๆ
...................................................................................................................................................................

ข้อเสนอเพื่อพิจารณา

อย่างที่ผมบอกครับว่าเป็นการเจรจาที่ทุกฝ่ายต่างมีเหตุและผล ซึ่งถ้าใครได้เข้าร่วมรับฟังก็จะเข้าใจว่าปัญหามันซับซ้อนและยุ่งยากกว่าที่คิด แม้ว่าบริษัทน้ำยายินยอมที่จะจ่าย แต่ก็แบบจำใจ หลายบริษัทก็เป็นภาระที่ไม่ง่ายซะทีเดียว ทางออกที่ง่ายและน่าจะได้ผลมากที่สุดคือโรงพยาบาลเป็นผู้กำหนดโชคชะตาด้วยตนเองครับ หลายท่านอาจจะงงๆว่า ไปเจรจายังไงถึงจะให้โรงพยาบาลจ่าย โง่อิบอาย..ก็สุดแล้วทุกท่านจะคิดพิจารณากันครับ

คำแนะนำที่ผมจะให้ทุกท่านได้ในเบื้องต้นตอนนี้ คือ การรีบชี้แจงและให้ข้อมูลกับผู้บริหารให้เข้าใจครับ ถึงเหตุผลทั้งหมด โดยมีทางเลือกให้ตัดสินใจ ดังนี้ครับ
  1. ไม่จ่ายเงินค่าเชื่อมต่อ(แน่ๆ) หากท่านตัดสินใจใช้วิธีดูผลแล็บแบบเดิม ก็อาจจะยอมเสียค่า activate รายปีเท่านั้นสามารถใช้ HOSxP เวอร์ชั่นใหม่ๆได้ อย่างอื่นก็ไม่ต้องปวดหัวให้วุ่นวาย
  2. ไม่จ่ายเงินค่าเชื่อมต่อภายในปีนี้ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ วิธีนี้คงไม่ทำให้โรงพยาบาลของท่านมีปัญหาและสามารถจะใช้ HOSxP แบบที่ไม่มีการล๊อคผลแล็บไปได้อีกจนถึงสิ้นปี 2556 และท่านคงจะได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจและแจ้งเตือนให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลทราบ อ้อ.. แต่ผมขอเตือนกันไว้ก่อนนะครับถ้าหากจะคิดติดต่อ BMS-Gatewayภายหลังจากนี้ โดยจะไปต่อรองให้บริษัทน้ำยาแถมเป็นโปรโมชั่นหรืออะไรก็แล้วแต่ที่คิดว่าโรงพยาบาลไม่ต้องจ่ายและทำในปีหน้า  แน่ใจนะครับว่า BMS จะยังคงราคาให้ที่ 42,800 บาท และบริษัทน้ำยาจะไม่บวกเพิ่มไว้ในรายการต้นทุนไปเรียบร้อย (ไมฮา)
  3. จ่ายเงินค่าเชื่อมต่อ โดยให้บริษัทน้ำยา+LIS รับผิดชอบ มีทางเลือกให้ 3 ทางดังนี้
    • บริษัทน้ำยาจ่ายเงินให้ BMS โดยโรงพยาบาลไม่ต้องยุ่งยาก บางบริษัทน้ำยา+LIS ได้ดำเนินการในส่วนนี้ไปให้เรียบร้อยแล้ว ท่านก็คงสบายใจได้ไม่ต้องทำอะไรครับ
    • บริษัทน้ำยาบริจาคเงินให้โรงพยาบาล และโรงพยาบาลนำเงินบริจาคไปซื้อ BMS-Gatewayโดยไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้าง ข้อนี้ถ้าพูดคุยกันได้น่าจะง่ายสำหรับทุกฝ่าย 
    • โรงพยาบาลสำรองจ่ายไปก่อน และบริษัทน้ำยา/LIS นำเงินมาบริจาคคืนในภายหลัง อันนี้ก็แล้วแต่จะคุยกัน แต่ทั้งหมดควรรีบดำเนินการให้เสร็จก่อน 31 ธันวาคม 2556
  4. จ่ายเงินค่าเชื่อมต่อโดยใช้เงินของโรงพยาบาล ข้อนี้ไม่ต้องไปวุ่นวายกับใคร กรณีนี้เหมาะสำหรับโรงพยาบาลที่มีกะตังค์น้อยถึงมาก แต่ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และเข้าใจถ่องแท้ว่า ยังไงๆ มันก็เงินโรงพยาบาลนี่หว่า ยอมเสียน้อยเพื่อได้มาก ว่าแล้วก็สั่งให้ฝ่ายพัสดุดำเนินการศึกษาหาระเบียบและดำเนินการเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง ติดต่อขอใบเสนอราคาจาก BMS โดยพลัน 
  5. ไม่รู้ไม่ชี้ไม่ทำอะไร บ่นจ่มบริษัท BMS+บริษัทน้ำยา+บริษัท LISที่ไม่ยอมพูดคุยแก้ปัญหา ทำให้โรงพยาบาลต้องเดือดร้อน แล้วก็ปล่อยเวลาให้ลอยผ่านไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสิ้นปีคงมีคนคนไปเจรจาหาทางออกให้อีกอยู่ดี ข้อนี้ก็อาจจะฝันหวานมากไปหน่อยนะครับและการรอคอยก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะคงจะไม่มีการเจรจากันแบบนี้อีกแล้วในปีหน้า หากในช่วงนี้ยังไม่รีบดำเนินการใดๆแต่เนิ่นๆ ถ้ารอจนถึงปีหน้าคงจะตัวใครตัวมันละครับ! เพราะโปรโมชั่นคงไม่ได้ในราคานี้ ถึงตอนนั้นจะบีบก็ตาย จะคลายก็ขี้รดมือครับ
สุดท้ายที่ผมอยากฝากบอกทุกท่าน ขอความกรุณาอ่านทบทวนอีกหลายๆครั้ง หากยังไม่เข้าใจ เพราะถ้าท่านเข้าใจอย่างที่ผมเข้าใจว่าระบบ BMS-Gateway เป็นเรื่องที่สำคัญในระบบข้อมูลสุขภาพสิ่งที่จะต้องจ่ายในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมากเพราะหากผลแล็บผิดพลาดไปจากระบบที่ไม่ได้วางไว้ตามมาตรฐาน อาจส่งผลต่อการรักษาของแพทย์ได้เช่นกัน

ส่วนเงินที่จะจ่ายหรือไม่จ่าย แน่ใจกันจริงๆ เหรอครับว่าไม่ใช่เงินโรงพยาบาล ดังนั้นจะรอช้าอยู่ทำไมล่ะครับ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จากที่คิดกันว่าโรงพยาบาลถูกจับเป็นตัวประกัน เพราะที่จริงแล้วโรงพยาบาลคือคนที่อยู่ตรงกลางและเพียงหันหน้ามาคุยทาง BMSอยู่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ผมอยากให้ลองหันหลังกลับไปคุยกับบริษัทน้ำยาและLIS ซึ่งโรงพยาบาลมีความสามารถและมีอำนาจต่อรองได้ง่ายกว่ากันเยอะ เพราะยังไงบริษัทน้ำยาเขาคงไม่อยากเสียลูกค้าไปง่ายๆหรอกครับ..จริงไหม๊ครับ

............................................................................................................
21.00 น. ช่องจอดรถหมายเลข 130

หลังจากขึ้นไปนั่งบนรถจัดสัมภาระเข้าที่เข้าทางเรียบร้อย ผมหลับตาลงอย่างอ่อนล้า อยากจะหลับยาวไปจนถึงบ้าน พอกำลังเคลิ้มๆได้ที่ พนักงานต้อนรับมาสะกิดและบอกว่า "รับขนมกับน้ำด้วยค่ะ" 


วันที่ 8 มิถุนายน 56

เหลือเวลาอีกเพียง 206 วันในปี



11 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  2. หนักใจ...เข้าใจทั้งสองฝ่าย

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากครับ ทำให้ผมเข้าใจวงจรนี้อีกมากเลย

    ตอบลบ
  4. สุดยอดครับ วันหลังต้องมีรวมเล่ม

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

    ตอบลบ
  6. ยังไงก็ต้องจ่ายอยู่ดี ผู้บริการหลายท่านไม่ห่วงเงิน แต่ห่วงเรื่องระเบียบ (ทำงานก็เหนื่อยแทบแย่ แล้วยังจะโดนวินัยอีก)

    ง่ายดี สะดวก อีกต่างหาก ก็น่าจะเป็นแบบที่ อ.เดชา ว่าให้บวกในค่าน้ำยาไปเลย เพราะไม่ต้องยุ่งเรื่องระเบียบ ไม่เสียเวลาดำเนินการ ถ้าใช้น้ำยาน้อยกว่าที่ประมาณการก็จ่ายน้อยลง ถ้าใช้น้ำยามากก็ถือซะว่าเป็นค่าบริการ (เพราะหักจากราคาน้ำยาที่สั่ง)
    แถมยังค่อยๆ แบ่งจ่ายและติดเครดิดได้อีกด้วย 555+5 เพราะบางทีเกือบขึ้นบัญชีดำของบริษัทเลยก็ยังมีเล้ย

    ตอบลบ
  7. ผมเลือกให้โรงพยาบาลเป็นผู้จ่าย และจ่ายตรงๆตามระเบียบโดยใช้แนวทางของการจ้างเหมาให้ทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลมีคุณภาพตามมาตรฐาน หลังจากนั้นก็รอรับเงินบริจาคเข้าสวัสดิการโรงพยาบาลครับ โดยไม่ต้องบอกว่าใครต้องบริจาคหรือต้องบริจาคเท่าไหร่ คนอยากทำบุญเขารู้ดีครับ รับรองงานนี้มีแต่กำไรและโอกาสครับ (ถ้ายอดน้ำยาเกิน ๑๐ ล้านต่อปี มีสัญญา ๕ ปี คุณคิดว่าเขาจะบริจาค เท่าไหร่ครับ) ถ้าเป็นผมผู้บริหารผมจะเสนอส่วนนั้นให้เป็นส่วนลดให้กับโรงพยาบาลครับ (๕๕๕พูดได้เนาะ ขำๆครับ)

    ตอบลบ